SCB-กรมส่งเสริมการค้าฯ หนุน SMEs ไทยขยายธุรกิจสู่เวทีระหว่างประเทศ นำร่องส่งเสริมกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 29, 2016 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ประสานความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขยายธุรกิจสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าผนึกเครือข่ายเอสเอ็มอีเกื้อหนุนธุรกิจระหว่างกัน สร้างความแข็งแกร่งในการขยายตลาดต่างประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แนวทางการดำเนินธุรกิจด้านเอสเอ็มอีของธนาคารจะให้ความสำคัญในเรื่องการสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถขยายธุรกิจได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการออกไปขยายฐานทั้งด้านการค้าและการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวนหลายรายสามารถออกไปต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศจนประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตอย่างโดดเด่นด้วยเป็นอุตสาหกรรมสำหรับการอุปโภคที่ผู้ประกอบการไทยมีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพในตลาดต่างประเทศ สำหรับการผนึกความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต่างดำเนินธุรกิจของตัวเองได้มารวมกลุ่มสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สามารถต่อยอดไปยัง value chain สร้างโอกาสในการทำ Business Matching และยังสามารถพัฒนาสู่ธุรกิจอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดผลิตภัณฑ์ลูกค้าธุรกิจ SCB กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของลูกค้าให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ที่แตกต่างของผู้ประกอบการ ธนาคารมุ่งเน้นให้บริการลูกค้าแบบ Business Partner โดยธนาคารมีบุคลากรที่มากประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องของบริการการค้าต่างประเทศ ให้คำปรึกษาลูกค้าตั้งแต่ลูกค้าที่มีความสนใจที่จะเริ่มทำธุรกิจนำเข้า ส่งออก จนถึงเมื่อลูกค้าขายสินค้าและเรียกเก็บเงินได้สำเร็จ ผ่านทางเครือข่ายไทยพาณิชย์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดใหม่ เช่นประเทศกลุ่ม CLMV รวมถึงเครือข่ายธนาคารพันธมิตรทั่วโลก ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงในการทำการค้าต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจหลัก เช่นการตลาดมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารมีโครงการสร้างองค์ความรู้การค้าต่างประเทศแบบครบวงจร พร้อมอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งเรื่องการนำเข้าและส่งออก เพื่อให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วน รวมถึงการให้คำแนะนำ การจัดอบรมสัมมนาด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้และสร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกได้

สำหรับความร่วมมือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ตลาดต่างประเทศสำหรับสมาชิกเอสเอ็มอีจากทั้ง 2 หน่วยงานนั้น ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 แผนงาน ได้แก่ 1.โครงการ SME Expo-Spring Up Thailand 2.โครงการสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (LSPs Meeting & Matching 2016) 3.โครงการส่งเสริมการลงทุนและดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ (นำนักธุรกิจ SME ไทย เยือน CLMV) 4.โครงการพัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดอาเซียน และ 5.การสัมมนา Food Forum (อบรมให้ความรู้พัฒนาสินค้าฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก) โดยความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 องค์กรครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างมาก และมีมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆมุ่งเน้นส่งเสริมและผลักดันการสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรม มีการใช้เทคโนโลยี และมีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีสมรรถนะ ความพร้อม และศักยภาพในการขยายธุรกิจสู่การค้าระหว่างประเทศ

บทบาทของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยประกอบด้วย 4 มิติหลัก ได้แก่ มิติที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในเวทีการค้าโลกผ่านโครงการสำคัญ อาทิ การอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ การส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรของผู้ประกอบการไทย มิติที่ 2 การส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและบริการบนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างตราสินค้า นวัตกรรม การสร้างสรรค์ โดยเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ มิติที่ 3 การสร้างโอกาสและช่องทางการเข้าสู่ตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ผ่านโครงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ thaitrade.com โครงการ SMEs Pro-active การจัดงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การจัดคณะผู้แทนการค้า นอกจากนี้ยังมีโครงการพี่จูงน้อง ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เปิดตลาดส่งออกได้อย่างเป็นรูปธรรม และมิติที่ 4 คือ การส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการค้า เพื่อลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย

"ตลาดสำคัญที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการขยายการค้าและการลงทุน ได้แก่ ตลาด CLMV ดังนั้น กรมฯ ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จึงมีแผนการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการสู่การค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจาะตลาดกลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มผู้ประกอบการอาหาร เครื่องดื่ม และโลจิสติกส์ ผ่านเครือข่าย เอสเอ็มอีจากทั้ง 2 องค์กร เน้นโครงการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และกรมฯ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 องค์กรครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าสู่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ"นางมาลีกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ