Brexit: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดเป้าส่งออกไทยปีนี้เป็น -2%จากเดิมคาด 0% ผลกระทบ Brexit กดดันเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 29, 2016 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่อังกฤษจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คาดว่าผลกระทบจะมาจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจอังกกฤษเป็นหลัก ซึ่งจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวขของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ 0.07% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และกระทบ GDP ไทยในปี 60 ราว 0.2% แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่ผลกระทบลามไปถึงเศรษฐกิจประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป (EU) อาจฉุด GDP ของไทยให้หายไป 0.2% ในปีนี้ และ 0.75% ในปี 60

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59 ยังสามารถขยายตัวได้ตามที่ประมาณการณ์ไว้โต 3% เนื่องจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวต่อไปได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน GDP ไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 2.9%

สำหรับผลกระทบเรื่อง Brexit ต่อธุรกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้คาดจะอยู่ในกรอบจำกัด แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางความผันผวนของค่าเงิน และความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจควรป้องกันความเสี่ยงจากความเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ รวมถึงกระจายตลาด โดยในระยะสั้นธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดจากความผันผวนของค่าเงินที่ฉุดอำนาจซื้อของชาวอังกฤษ รวมถึงชาวยุโรป โดยกระทบรายได้ส่งออกและท่องเที่ยวไทย แต่ในทางกลับกันอาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการนำเข้าและท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ตามคาดปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10%

ส่วนภาครถยนต์เรื่อง Brexit อาจจะกดดันอำนาจซื้อผู้บริโภค ซึ่งกระทบการส่งออกรถยนต์ไปยังอังกฤษให้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ส่วนการส่งออกรถยนต์ไป EU อาจจะประคองการขยายตัวไปได้อย่างไรก็ตามหากความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัวผลกระทบก็อาจลากยาวต่อเนื่องไปถึงปี 60

ด้านภาคการส่งออกของไทยไนปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการณ์ลงเป็นติดลบ 2% จากเดิมที่ประเมินว่า 0% เนื่องจากตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบมีปัจจัยเกี่ยวกับ Brexit เข้ามากดดันเพิ่มเติม และในครึ่งปีหลังคาดว่าภาวะอุปสงค์ของคู่ค้าหลัก คือ จีน จะยังมีความเปราะบาง ซึ่งกดดันการส่งออกยางพาราและมันสำปะหลังของไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้านนางสาวพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า การส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะติดลบในอัตราที่ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ 2.1% ซึ่งประเมินตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 3/59 และไตรมาส 4/59 จะอยู่ที่เฉลี่ยติดลบ 2% ต่อไตรมาส โดยเป็นผลมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว อีกทั้งยังมีประเด็น Brexit เข้ามากดดันเพิ่ม ส่งผลให้การส่งออกไทยเผชิญกับปัจจัยกดดันด้านเศรษฐกิจโลกอยู่สูง อย่างไรก็ตามตัวเลขการส่งออกของไทยไนไตรมาส 3/59 คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาส 2/59 ที่ประเมินว่าจะติดลบถึง 7% เนื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท อย่างเช่น ราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วยหนุน

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับคาดการณ์เป็นขยายตัวต่ำกว่า 4% หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านบาท จากเดิมที่ประเมินไว้ขยายตัวในช่วง 4-6% โดยมูลค่าของสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ครึ่งหนึ่งมาจากสินเชื่อธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีในช่วงที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปยังครึ่งปีหลัง จากที่ครึ่งปีแรกบริษัทหลายรายมีดีลซื้อกิจการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในครึ่งปีหลังปัจจัยหนุนสินเชื่อภาคธุรกิจจะมาจากการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนน ที่ภาครัฐเร่งผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่คาดว่าอาจจะเห็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 1/59 ที่ NPL ของระบบอยู่ที่ 2.6% โดยสิ้นปีนี้คาดว่า NPL ของระบบจะอยู่ที่ 3% โดยมาจากสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หลังหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 83-84% จากไตรมาส 1/59 ที่ 81-81.5%

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/59 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าจะลดลงจากไตรมาส 1/59 เนื่องจาก NPL ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดการตั้งสำรองที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จะมีการตั้งสำรองที่สูงในช่วงที่ธนาคารมีผลประกอบการที่ดี โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังอยู่สูงกว่าเกณฑ์ของทางการ ประกอบกับก่อนหน้านี้ธนาคารมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อรายได้ของธนาคาร แต่ในส่วนการลดค่าธรรมเนียมลงจะมีผลช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมองว่าเรื่องค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบน้อย เพราะธนาคารสามารถลดต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายต่างๆลงมาชดเชยได้ "ปีนี้ผลประกอบการโดยรวมของธนาคารทั้งระบบจะลดลงจากปีที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทั้งจากในและต่างประเทศ และยังเจอ Brexit เข้ามาอีก ทำให้การทำธุรกิจของธนาคารปีนี้ยากลำบาก"นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว สำหรับค่าเงินบาทในปีนี้ยังคงประมาณการไว้ที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินบาทในช่วงนี้จะแกว่งตัวในลักษณะแข็งค่า เนื่องจากมีกระแสเงินสดไหลเข้ามาในไทย โดยเฉพาะในตลาดหุ้นที่ยังมีความสนใจและให้ผลตอบแทนที่สูงเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเดียวกัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปีนี้คาดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ปรับขึ้น 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยหลังจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในกรอบที่ธปท.วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ