นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.59 สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายรัฐบาลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวสูงถึง 51.0% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว สำหรับด้านอุปทานมีทิศทางดีขึ้นโดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น และภาคการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในเดือนพ.ค.59 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ 1.7% ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัว 1.0% และ 2.8% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 36 เดือนที่ 8.3% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ขยายตัวต่อเนื่องที่ 14.8% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และในเขตภูมิภาค เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรซึ่งสอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 4.7% ต่อปี
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 61.1 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออก
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพ.ค.59 มีสัญญาณทรงตัวจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่องที่ 26.5% ต่อปี โดยเฉพาะยอดรถกะบะ 1 ตันที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนแม้ว่ายังคงหดตัว -5.4% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่า ขยายตัว 1.0% ต่อเดือน สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างมีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพ.ค.ที่หดตัว -19.1% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศกลับมาหดตัวที่ -1.1% ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัว 0.3% ต่อเดือน
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนพ.ค.59 ยังสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 189.4 พันล้านบาท ขยายตัว 7.1% ต่อปี ขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 176.5 พันล้านบาท ขยายตัว 7.6% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ 36.9 พันล้านบาท ที่ขยายตัวสูงถึง 51.0% ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาล พบว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 307.8 พันล้านบาท ขยายตัว 37.1% ต่อปี ขณะที่ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 13.6 พันล้านบาท
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยในเดือนพ.ค.59 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวอยู่ที่ -4.4% ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวหลักมาจากสินค้าส่งออกในหมวดเชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร ขณะที่ภาพรวมการส่งออกรายตลาดหดตัว โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน-5 จีน และญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย อินโดจีน-4 (CLMV) และตะวันออกกลางเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาค จะพบว่าประเทศต่าง ๆ มีการหดตัวเช่นเดียวกัน และหากเปรียบเทียบในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 จะพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยที่มีการหดตัวอยู่ที่ -1.9% ต่อปี เป็นการหดตัวน้อยกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานขยายตัวได้ดีจากภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 7.6% ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีนเป็นหลัก รวมถึง อินเดีย รัสเซีย และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า ที่ขยายตัวได้ดีเช่นกัน สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 4 เดือน ที่ 0.3% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ข้าวโพด กลุ่มไม้ผล และหมวดปศุสัตว์ เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ประกอบกับมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 86.4 โดยมีปัจจัยบวกจากปัญหาภัยแล้งที่ได้เริ่มคลี่คลายลง รวมถึงนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม
เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% และ 0.8% ต่อปีตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน โดยเดือน พ.ค.59 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ระดับ 44.1% ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60.0% สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 175.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.4 เท่า