สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ 111.51 มีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 108.68
เนื่องจากการผลิตของสินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ ประกอบด้วย รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ และผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. ระบุว่า MPI เดือนพ.ค.59 ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน สะท้อนถึงสัญญาณการทยอยฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม
สำหรับสินค้าในอุตสาหกรรมหลัก ในเดือนพ.ค. 59 ที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่
รถยนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรถปิคอัพ เป็นหลัก เนื่องจากมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับการตอบรับดีทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก รวมทั้งรถยนต์นั่งขนาดเล็กมีการผลิตเพิ่มขึ้นจากการขยายโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่
เครื่องปรับอากาศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของคอนเดนซิ่ง และแฟนคอยล์ ในเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ ผู้ผลิตทำการกระตุ้นตลาดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนต่อเนื่อง ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 51.23% เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 23.52%
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเครื่องยนต์ดีเซล ตามความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้อานิสงส์จากการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ารถปิคอัพขนาด 1,900 ซีซี.รวมถึงคำสั่งซื้อของลูกค้าตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ยุโรป และกลุ่มลาตินอเมริกา
ผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ยางแท่ง และในปีนี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นราคาในประเทศให้สูงขึ้น เช่น การทำยางปูพื้นลู่วิ่ง ลานกรีฑา เป็นต้น ส่งผลให้ราคาของผลิตภัณฑ์ยางดีขึ้น
ยาสูบ ซึ่งปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วที่มีการปิดโรงงานเพื่อซ่อมบำรุง ทำให้ตัวเลขปีนี้กลับมาโดดเด่น
นอกจากนี้การส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศสำคัญ ๆ ในเอเชีย กล่าวคือ รถยนต์ไทยมีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8.4% ในขณะที่จีนส่งออกลดลง 11.9% และเกาหลีใต้ส่งออกลดลง 8.4%
นายวีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อว่า MPI จะยังคงขยายตัวบวกอย่างต่อเนื่อง หลังจากถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่ต้องรอดูผลที่จะตามมาจากกรณีอังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexitt แต่เชื่อว่าอาจจะไม่มีผลกระทบทางตรงต่อภาคอุตสาหกรรมไทยมากนักเมื่อเทียบกับภาคตลาดเงินตลาดทุน ขณะที่การส่งออกโดยตรงของไทยไปอังกฤษมีเพียง 1.8% จึงถือว่าในระยะสั้นไม่น่าจะมีผลกระทบในทันที แต่ในระยะยาวจะมีทั้งผลบวกผลลบ ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมกำลังวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ คาดว่าเดือนหน้าจะมีความชัดเจน
"เรื่อง Brexit ตอนนี้ยังไม่นิ่ง ยังฝุ่นตลบ ทำให้ยังคาดการณ์ยาก" นายวีรศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษน่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารประเภทไก่ของไทย น่าจะเป็นตัวช่วยทำให้การส่งออกไก่ไทยได้โควต้าของอียูบวกกับโควต้าของอังกฤษเพิ่มเข้ามา
ส่วนกรณีกระแสข่าวไทยได้รับการเลื่อนสถานะการค้ามนุษย์ ประจำปี 2559 (TIP Report 2016) มาอยู่ในระดับ 2 แบบจับตามอง (Tier 2 Watch List) จากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดที่ระดับ 3 (Tier 3) นั้น สศอ.มองว่า น่าจะส่งผลดีต่อสินค้าประมงและอาหารทะเลของไทยอย่างแน่นอน ทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมประมงของเราปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 59 ที่ภาคการผลิตติดลบ -12.1% ไตรมาส 2 ปี 59 ติดลบ -5.8% ส่วนภาคการส่งออกสินค้าประมงในไตรมาส 1 ปี 59 ติดลบ -7.5% ไตรมาส 2 ปี 59 ติดลบ -4.2%