นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากตลาดโลกได้ อาทิ Brexit และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เนื่องจากพื้นฐานและเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่ง และอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ปัจจุบันปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ก็ทำได้เพียงพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้
สิ่งที่ไทยยังขาดอยู่ในขณะนี้คือการลงทุนของภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่ยังชะลออยู่ แม้ว่าตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นมาบ้างก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการพยายามช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ อาทิ กลุ่มเอสเอ็มอี และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับเป็นสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ในการเปลี่ยนเครื่องจักร หรือลงทุนใหม่ จึงหวังว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้การลงทุนของภาคเอกชนจะฟื้นตัวขึ้นได้
รมว.คลัง กล่าวว่า หากการลงทุนภาคเอกชนกลับมาจะช่วยทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกมาก โดยในระยะยาวรัฐบาลมีแผนลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็คท์จำนวนมาก และส่วนใหญ่ก็มีแผนการลงทุนโดยการดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งถือว่าประเทศไทยโชคดีเนื่องจากภาคเอกชนเองก็มีความเข้มแข็งและมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงทำให้ช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุนและจะได้เห็นการขับเคลื่อนการลงทุนในส่วนนี้อย่างมีนัยสำคัญ
“ถ้าการลงทุนของภาคเอกชนกลับมาเหมือนเดิม ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อีกเยอะ แต่หากยังไม่กลับมาเหมือนเดิมก็เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยก็ยังจะเดินหน้าได้แบบค่อย ๆ โต" รมว.คลัง กล่าว
สำหรับภาพรวมการออมของประเทศในปัจจุบันถือว่ามีการออมอยู่ในระดับที่สูงกว่าการลงทุน สะท้อนจากทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการออมจึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญกับประเทศในขณะนี้
"ปัจจุบันคนไทยมีลักษณะการออมเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เพียงการฝากออมทรัพย์อย่างเดียว กลับไปออมเงินผ่านการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทอง เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากให้มองการออมเงินให้กว้างขึ้น"รมว.คลัง กล่าว
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองถือว่าเป็นโอกาสในการวางรากฐาน การเปลี่ยนแปลง และปฎิรูปประเทศ โดยขณะนี้รัฐบาลใช้ระยะเวลาอันสั้นนี้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพิงธุรกิจขนาดใหญ่ มาเป็นการให้โอกาสในกลุ่ม SMEs มากขึ้น เพื่อให้ SMEs ไทย ก้าวไปสู่การเป็น SME 4.0 โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาธุรกิจ และจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วง ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหนี้ NPL และเครดิตบูโร โดยได้ให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกัน สร้างความมั่นใจให้กับแหล่งสินเชื่อมากยิ่งขึ้น
สำหรับในกลุ่มธนาคาร ทั้งธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน มีการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งล่าสุดต่ำถึง 4% เป็นแรงจูงใจ และกระตุ้นให้กับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลงมาด้วย
ทั้งนี้อยากให้หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ร่วมมือกัน เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ โดยให้การสนับสนุน ทั้งแหล่งเงินทุน ในการจัดตั้งกองทุนสตาร์ทอัพ ,การค้ำประกัน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีโอกาสในการประกอบธุรกิจ
"หลังจากไปเยือนสาธารรัฐประชาชนจีน เห็นถึงการเติบโตของจีนที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นประเทศแรก ที่จะฟื้นจากเศรษฐกิจถดถอยได้ ไม่ใช่สหรัฐฯ หรือ สหภาพยุโรป โดยสิ่งที่จีนทำคือการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ และเน้นให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ หรือ สตาร์ทอัพ ขณะที่เมื่อมองถึงประเทศไทย มองว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศ ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ โดยรัฐบาลคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ในการวางแผนการเติบโตในทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นไปที่ SMEs ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งโอกาส เพื่อยกระดับ SMEs เป็น SMEs 4.0 ให้ได้"