บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2559 ว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงเล็กน้อย มาที่ระดับ 81.1% ต่อจีดีพี (นับเป็นการชะลอลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส) จากระดับ 81.6% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2558 โดยคาดว่ามีสาเหตุมาจาก 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนในภาพรวมชะลอลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อในอนาคต 2) การชำระคืนสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยหลังเร่งเบิกใช้ในช่วงท้ายปี 2558 ทั้งในกลุ่มสินเชื่อเพื่อสินค้าคงทนอย่างสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และ 3) ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้นำการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวังมากขึ้นสำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูแลประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งมีผลให้สินเชื่อรายย่อยเติบโตชะลอลง
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของยอดคงค้างของหนี้ครัวเรือน พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น 3.86 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า แตะระดับ 11.08 ล้านล้านบาท หรือเติบโตราว 4.7% YoY ชะลอลงเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัว 5.2% YoY ในไตรมาส 4/58
สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 59 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หนี้ครัวเรือนอาจเติบโตในกรอบที่ระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นจึงปรับลดประมาณการหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 59 มาที่ระดับ 81.5 – 82.5% จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 83 – 84% หลังเห็นสัญญาณการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงในหลายกลุ่มสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังของปีคงทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยในช่วงไตรมาส 2/2559 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ขณะที่โครงการบ้านประชารัฐที่รัฐบาลดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (วงเงิน 70,000 ล้านบาท) จะทยอยมีผลต่อหนี้ครัวเรือนในช่วง 2 ปีต่อจากนี้
ขณะที่คาดว่าธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการขยายสินเชื่อให้แก่ลูกค้าระดับกลางถึงบน รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เน้นกลุ่มครัวเรือนระดับกลางลงล่างตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐ จะยังคงเป็นเสาหลักในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือน ตามมาด้วยกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ให้บริการแก่สมาชิก อย่างไรก็ดี สินเชื่อของกลุ่มนอนแบงก์คงเติบโตค่อนข้างจำกัดจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
นอกจากนี้ หากหลายโครงการของภาครัฐ (ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และโครงการผลักดันพิโคไฟแนนซ์) สามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อครัวเรือนไทยทั้งในมิติการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มขึ้น และการลดภาระหนี้จ่ายจากโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ