ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกสินค้าประมงไปสหรัฐฯสดใสขึ้นหลังไทยได้เลื่อนสถานะเป็น Tier2-การผลิตกุ้งฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2016 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมสินค้าประมงส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2559 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นและคาดว่าจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี อยู่ในช่วง 3.0-5.0% (YoY) หรือมีมูลค่า 1,320 -1,350 ล้านดอลลาร์ฯ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของกำลังการผลิตกุ้งในประเทศซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังสหรัฐฯ โดยในปี 2559 คาดว่ากำลังการผลิตกุ้งในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 15.4% (YoY) และในปี 2560 เพิ่มขึ้นอีก 8.3% (YoY) และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานของภาครัฐเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม เมื่อกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสถานะของประเทศไทยจากระดับ Tier 3 เป็น Tier 2 (Watch list) ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report 2016) ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 หลังจากเล็งเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาด้านแรงงานของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

เนื่องจากในช่วง 2 ปีก่อนหน้าที่ไทยได้รับการจัดสถานะ Tier 3 สหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดมาตรการแทรกแซงทางด้านเศรษฐกิจการค้า เพราะฉะนั้น ผลกระทบทางตรงจากการที่ไทยได้รับการยกสถานะดีขึ้นในปี 2559 นี้ ก็น่าจะมีจำกัด

ขณะที่ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์สินค้าที่ดีขึ้นเป็นหลัก ทั้งนี้ ประเด็น TIP Report ของ US จะแตกต่างจากกฎระเบียบ IUU Fishing ของ EU ที่มีบทลงโทษชัดเจนถึงการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเลในกรณีที่ได้รับสถานะใบแดง (ไทยยังคงอยู่ในสถานะใบเหลือง)

"การขยับสถานะของไทยในรายงานการค้ามนุษย์ก็จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าประมงที่คำสั่งซื้อน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็น IUU Fishing (การประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม) ของสหภาพยุโรป ถึงผลการประเมินสถานะของประเทศไทยในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยได้มีความคืบหน้าอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป

ในช่วง 2-3 ปี ปีที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมสินค้าประมงส่งออกของไทย (หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกระบุในประเด็นปัญหาด้านแรงงาน) ไปยังสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่อ งท่ามกลางปัจจัยลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของราคาวัตถุดิบทูน่าที่ลดลง ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องให้หดตัวตาม หรือปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งของไทยเนื่องจากการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้ง (EMS) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกที่ลดลง

ทั้งนี้ แม้สถานะ Tier 3 ที่ไทยได้รับอาจไม่ส่งผลกระทบทางตรงในเชิงระงับการนำเข้าสินค้าจากไทย แต่ก็มีผลทางอ้อมในประเด็นด้านภาพลักษณ์สินค้าส่งออกไทยจากการที่ผู้นำเข้าที่เป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ อาจเลี่ยงที่จะนำเข้าจากไทย เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลเชิงภาพลักษณ์ในสายตาผู้บริโภค ซึ่งอาจจะจะไม่เห็นผลในเชิงมูลค่าที่ชัดเจน รวมทั้งยังต้องติดตามในรายละเอียดของกฎระเบียบ IUU Fishing ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะนำมาบังคับใช้กับประเทศคู่ค้าอาหารทะเลในเดือนก.ย. 2559 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ