นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นอกจากกลุ่มพลังงานทดแทนหลัก ๆ อาทิ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และได้พัฒนาจนถือได้ว่า อยู่ลำดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศในระดับอาเซียนแล้วนั้น กระทรวงพลังงานพบว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการภาคเอกชนได้สนใจและเริ่มลงทุน การผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำ (Hydro kinetic electrical generation system) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ใช้กังหันน้ำสร้างพลังงานจากการเคลื่อนไหวของน้ำ โดยแรงดันของน้ำจะส่งผลให้ใบพัดกังหันหมุน ซึ่งหากกระแสน้ำไหลแรงมากเท่าใด แรงหมุนของใบพัดก็จะแรงขึ้น โดยการหมุนของใบพัดดังกล่าวจะทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งขณะนี้ได้มีภาคเอกชน ได้ประยุกต์และเริ่มทดลองลงทุนติดตั้งระบบไว้แล้ว 2 จุด ประกอบด้วย ในบริเวณแพกลางแม่น้ำ จ.หนองคาย และในทะเล ที่พัทยา จ.ชลบุรี เป็นโครงการนำร่อง ขนาดกำลังผลิตประมาณ 330 กิโลวัตต์ โดยถือเป็นพลังงานทดแทนที่สร้างขึ้นจากการไหลของแม่น้ำในธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติเทคโนโลยีนี้ ต้องการการไหลของน้ำอยู่ที่ 2.2 เมตร/วินาที และการผลิตพลังงานทดแทนจากกระแสน้ำนี้ จะสามารถผลิตพลังงานได้คงที่ และอาจจะผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อลดข้อจำกัดของพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันต่อ 1 เมกะวัตต์ จะต้องลงทุนประมาณ 300- 350 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าในอนาคตต่อไป
"ประเทศไทย ยังมีศักยภาพของพลังงานทดแทนที่แอบซ่อนอยู่หลายชนิด ซึ่งขณะนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่นอกจากภาครัฐจะได้ผลักดันโครงการด้านพลังงานทดแทนต่างๆ แล้ว ยังมีภาคเอกชนที่ได้ร่วมมือ ในการลงทุนและทดลองพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการนำพลังงานจากกระแสน้ำมาใช้ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี และคาดว่าในอนาคตหากมีการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะมาช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้"นายสราวุธ กล่าว
นายสราวุธ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เร่งส่งเสริมแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 หรือแผน AEDP ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 แผนหลักของการพัฒนาพลังงานของประเทศระยะยาวหรือ Thailand Integrated Energy Blueprint :TIEB โดยกระทรวงพลังงานขอยืนยันถึงศักยภาพเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในประเทศว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในประเทศให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2579 ทั้งในสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ