นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร คาดว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมศุลกากรจะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายราว 6,000 ล้านบาท หรือ 8-9% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเก็บภาษีให้ได้ 1.2 แสนล้านบาท โดยเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะผลจากการมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งทำให้มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำลงและสูญเสียเงินภาษีไป 2.4 พันล้านบาท ดังนั้นจึงทำให้กรมศุลกากรต้องนำระบบไอทีและการปรับปรุงกฎหมายเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นการในการจัดเก็บภาษี
สำหรับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บอย่างเร่งด่วน คือ การเข้มงวดเรื่องราคาสำแดงนำเข้าสินค้า ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะหากผู้นำเข้าสินค้าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงจะทำให้นโยบายการทำบัญชีเดียวกับกรมสรรพากรมีปัญหาไปด้วย
ทั้งนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงการคลังในการใช้โมบายแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นฐานข้อมูลราคา และรายละเอียดของสินค้านำเข้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้อ้างอิงในการคำนวณการเสียภาษี เป็นการลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ให้น้อยลง
นายกุลิศ กล่าวว่า ในเบื้องต้นโมบายแอพพลิเคชั่นจะนำร่องรายการสินค้า 144 รายการ ประกอบด้วย สินค้าแฟชั่น สินค้าเกษตร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และไวน์ เป็นต้น โดยจะมีรายละเอียดสินค้า ทั้งรูปร่างสินค้า แหล่งผลิต อัตราพิกัดภาษี ราคาสำแดงนำเข้า และราคาตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการให้ได้ภายในเดือนก.ค.นี้ และเริ่มใช้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) เนื่องจากเป็นด่านที่มีการนำเข้าสินค้ามากที่สุด
นอกจากนี้ จะเข้มงวดกับบริษัทตัวแทนขำเข้าสินค้า (ชิปปิ้ง) ที่แจ้งราคานำเข้าสินค้าต่ำ โดยจะเริ่มจากการตักเตือนไปจนถึงขึ้นบัญชีดำไม่ให้ดำเนินการธุรกรรมนำเข้ากับกรมศุลกากร รวมถึงจะเตือนผู้นำเข้าที่ใช้บริการจากชิปปิ้งดังกล่าวด้วย โดยปัจจุบันมีชิปปิ้ง 1.2 หมื่นราย แต่มีการขึ้นทะเบียนกับสมาคมชิปปิ้งเพียง 3 พันราย ซึ่งชิปปิ้งที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมจะดำเนินการธุรกรรมกับกรมศุลกากรผ่านออนไลน์ ไม่ได้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรโดยตรง ทำให้มีปัญหาเรื่องการสำแดงราคาไม่มากเหมือนกับชิปปิ้งที่ไม่ขึ้นทะเบียนกับสมาคม
"กรมศุลกากรยังเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการค้า จะดำเนินการบอกภาษีก่อนล่วงหน้าก่อนสินนำเข้า 6 ชั่วโมงกับสินค้าที่นำเข้าผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่นำร่องดำเนินการกับท่าเรือแหลมฉบังได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้นำเข้าให้แจ้งก่อนสินค้าจะถึงสนามบิน 6 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ดำเนินการคำนวณการเสียภาษีและแจ้งให้ผู้เสียภาษีรับทราบเมื่อสินค้าถึงสนามบินก็สามารถชำระภาษีนำสินค้าออกได้ทันที โดยจะเริ่มใช้ในต้นปี 2560" นายกุลิศ กล่าว
พร้อมระบุว่า จะเร่งเรื่อง National Single Window (NSW) ที่ตอนนี้มีการเชื่อมข้อมูลร่วมกัน 36 หน่วยงาน แต่ยังไม่สามารถใช้ได้จริง โดยผู้นำเข้ายังต้องวิ่งไปตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขออนุญาต ซึ่งจะต้องประสานกับหน่วยงานต่างๆ ว่าจะต้องพิจารณาอนุญาตการนำเข้าผ่าน NSW เพื่อผู้นำเข้าทำรายการที่กรมศุลกากรที่เดียวก็สามารถนำสินค้าได้ ทำให้เกิดความสะดวกลดต้นทุนในการดำเนินการ