นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ คาดว่า ในปีนี้จะมีผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และกลุ่มธุรกิจรายใหม่ (สตาร์ท อัพ) กล่า 3 แสนราย เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายขึ้นหลังจาก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต้นเดือน ก.ค.59 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจนี้ จะทำให้ Smes และสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยการนำทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา มาขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องส่งมอบหลักประกันเหล่านี้ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทำธุรกิจได้ต่อเนื่อง ขณะที่สถาบันการเงินสามารถขยายการให้สินเชื่อได้มากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง เพราะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมายมีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นธรรม
นอกจากนี้ ยังได้สร้างอาชีพใหม่ในวงการธุรกิจไทย ได้แก่ ผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งต้องเป็นคนที่ทำอาชีพและมีความรู้ความชำนาญด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือประเมินมูลค่าทรัพย์สิน และต้องขอรับใบอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อทำหน้าที่บังคับหลักประกันกรณีนำกิจการมาเป็นหลักประกันขอสินเชื่อจากธนาคารแล้วผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ ผู้บังคับหลักประกันจะมีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงว่ามีเหตุให้บังคับหลักประกันหรือไม่ รวมถึงมีหน้าที่บำรุงรักษา จัดการและดำเนินกิจการที่เป็นหลักประกันจนกว่าจะจำหน่ายกิจการและนำเงินมาคืนเจ้าหนี้
"จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น เพราะมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก และยังจะส่งผลเชิงบวกต่อนักลงทุนต่างชาติ เพราะการทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น และการจัดอันดับด้านการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในไทยของธนาคารโลก โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการได้รับสินเชื่อ จะดีขึ้นในอนาคต"รมว.พาณิชย์ กล่าว
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังเสนอกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ผู้ให้เงินกู้) เพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะมีบุคคลอีก 6 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ , ทรัสตี , บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม , ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า , บริษัทบริหารสินทรัพย์ และ ผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง เข้ามาเป็นผู้รับหลักประกันเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงสถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทเงินทุน
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กฎหมายนี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ SMEs มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น เพราะมีทางเลือกสำหรับการนำหลักประกันที่จะใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่ง SMEs ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ สตาร์ทอัพ ซึ่งเพิ่งเริ่มทำธุรกิจ และกลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังจะขยายธุรกิจ