นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เร่งรัดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเร่งรัดการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (Eco system) ที่สนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจ Startup และเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมอาหาร โดยมอบหมายกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกันผลักดันมาตรการกระตุ้น 3 เรื่อง คือ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่, เร่งออกกฏหมายการร่วมลงทุนในรูปแบบของ Matching Fund และให้ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนสามารถหักภาษีค่าใช้จ่ายการทำวิจัยได้ 3 เท่าผ่านระบบ Fast Track เพื่อส่งเสริมและรองรับการเข้ามาลงทุนของภาคเอกชนในนวัตกรรมอาหาร
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศโดยอาศัยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ พร้อมให้กำหนดเงื่อนไขการพัฒนาคน การวิจัย และสร้างอุตสาหกรรมไทยให้ผลิตเองได้ในอนาคตและมอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จัดทำรายละเอียดของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
รมช.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีแนวคิดจะปรับปรุงระบบนวัตกรรมของประเทศให้มีความเป็นเอกภาพ โดยการรวบรวมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนาของประเทศ จาก 3 คณะ ซึ่งประกอบด้วย สภาวิจัยแห่งชาติ, คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ รวมไว้เป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการ
"การปรับปรุงการทำงานให้รวมเป็นคณะเดียวนั้น เพื่อจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติในระยะ 20 ปี รวมถึงจะมีส่วนในการพัฒนาให้ภาคเอกชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น" นายสุวิทย์ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมให้มีการแบ่งงบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และกองทุนตั้งตัวได้ มาส่งเสริมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ใน 5 กลุ่ม ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านดิจิตอล, ด้านอาหาร, ด้านสุขภาพ, ด้านไบโอเทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง
นายสุวิทย์ กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาผลักดันเรื่องของนวัตกรรมและการวิจัยของประเทศ ทำให้งบลงทุนด้านการวิจัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.4% ต่อ GDP และตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2% ภายใน 20 ปี ตามกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศ
ด้านนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีนวัตกรรม โดยที่ประชุมได้ตั้งงบประมาณไว้ 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้กับนักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และให้เอกชนสามารถนำไปต่อยอด โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตนี้จะเน้นเรื่องของความมีมาตรฐานและจำหน่ายได้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นบัญชีนวัตกรรม 63 รายการ และให้สำนักงบประมาณตรวจพิจารณากำหนดราคาของผลิตภัณฑ์ และมีการประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมแล้ว 26 รายการ พร้อมกันนี้จะมีการปรับปรุงกฎระเบียบของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยงานภาครัฐสามารถที่จะจัดซื้อจัดจ้างในกรณีพิเศษได้