ผู้ส่งออกห่วงกม.ใหม่ของสหรัฐฯกระทบสินค้าไทยหนัก เหตุห้ามนำเข้าสินค้าใช้แรงงานทาส

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2016 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญและแก้ปัญหาแรงงานต่อไป เนื่องจากกฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act of 2015 (TFTEA) ของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 11 มี.ค.59 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมสินค้านำเข้าที่มีการใช้แรงงานทาส แรงงานหักหนี้ และแรงงานคุก หากพบว่าสินค้านำเข้าถูกร้องเรียนว่ามีการใช้แรงงานเหล่านี้ สหรัฐฯ จะหยุดการนำเข้าทันที

โดยล่าสุดจีนถูกห้ามนำเข้าสินค้า 3-4 รายการที่พบว่ามีการใช้แรงงานในกลุ่มที่สหรัฐฯ ห้ามไว้ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ถือว่าแรงมาก เนื่องจากรัฐบาลมีสิทธิประกาศห้ามนำเข้าสินค้าที่ใช้แรงงานใน 3 กลุ่มได้ ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น กฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือระเบียบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ของสหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ห้ามนำเข้าสินค้าหากมีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก แต่ยังคงให้นำเข้าได้

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี 59 โดยเลื่อนสถานะไทยด้านการค้ามนุษย์ให้ดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 2 แบบจับตามอง (Tier 2 Watch List) จากเดิมระดับ 3 (Tier 3) ว่า ส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในสินค้าไทยมาก โดยคาดหวังว่าการเผยแพร่รายงานดังกล่าวในรอบต่อไปหรือในอีก 2 ปีข้างหน้าไทยจะถูกปรับอันดับให้ดีขึ้นเป็น Tire 2 โดยภาคเอกชนจะร่วมมือกับทุกหน่วนงานอย่างเต็มที่ในการลดจำนวนคดีการค้ามนุษย์ เพิ่มการจับกุมปัญหาแรงงานอย่างเง้มงวด

"การอยู่ในระดับ 2 แบบจับตามอง (Tier 2 Watch List) จะส่งผลต่อเนื่องให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายของไทยตามระเบียบ IUU ของ EU ดีขึ้น" นายพจน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การส่งออกสินค้าประมงนั้น การอยู่ระดับ Tier 2 Watch List ของไทย อาจไม่ส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกมากนัก แต่จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้เกิดการลงทุนตามมา เพราะการส่งออกไทยยังต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลก

สิ่งที่น่ากังวลที่จะส่งผลกระทบ คือ กรณีที่สหราชอาณาจักร (EU) ลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ที่ส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเงินโลก ดังนั้นกระทรวงคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าประเทศคู่ค้ามาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ