นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรม (Startup & Innovation) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการช่วยผู้ประกอบการหน้าใหม่ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องการจะลงทุนในงานวิจัยสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้จัดโครงการค้ำประกันผ่าน บสย.เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยมีวงเงินค้ำประกันรวมทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้นจะต้องมีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท, มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล, เป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อใหม่และต้องไม่นำไปชำระหนี้เงินกู้เดิม และเป็นลูกหนี้สถานะปกติที่ไม่เป็น NPL ตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องมีอายุกิจการใหม่ไม่เกิน 3 ปี
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นบุคคลธรรมดา จะได้รับการค้ำประกันไม่เกินรายละ 1 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ด้าน Innovation ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับการค้ำประกันไม่เกินรายละ 1 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงินเช่นกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นนิติบุคคล จะได้รับการค้ำประกันไม่เกินรายละ 5 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ด้าน Innovation จะได้รับการค้ำประกันไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท
"กลุ่มผู้ประกอบการในส่วนที่เป็น Innovation technology Startup นั้นจะต้องเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ มีสินค้าหรือบริการที่มีความแตกต่างจากเดิม โดยผู้ที่รับรองคือธนาคารจะเป็นผู้รับรองยืนยันว่าสิ่งที่จะทำจะมีความแตกต่างจากของเดิม หรือเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยีที่ผ่านคุณสมบัติจากภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับเงินสูงถึง 20 ล้านบาท และต้องได้รับการพิจารณาคุณสมบัติจาก สวทช., วว. หรือ SIPA เป็นต้น"นายกอบศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบการจะได้รับการค้ำประกันเป็นเวลา 10 ปี สามารถมายื่นขอเข้าโครงการได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ธ.ค.61 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน มีค่าธรรมเนียม 1-2% ต่อปี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในปีแรก และการจ่ายค่าประกันชดเชยนั้น บสย.จะจ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดไม่เกิน 17% บวกค่าธรรมเนียม
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่และนวัตกรรมนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้นและนำไปสู่การปล่อยสินเชื่อ ช่วยดัน GDP ให้เพิ่มขึ้นได้ 0.05% ต่อปีเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี
"จะช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเศรษฐกิจ และช่วยผู้ประกอบการรายใหม่ได้ประมาณ 5,000 ราย รายละ 2 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้นจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เราคาดว่าเมื่อสินเชื่อออกไปก็จะทำให้เงินหมุนประมาณ 3-4 รอบ เกิดการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป"นายกอบศักดิ์ กล่าว