นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านระบบรางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ โดยมีแผนงาน 3 ส่วน คือ 1. แผนโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในส่วนที่เตรียมนำเสนอครม.พิจารณาในปี 59 คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินโครงการ 101,112 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอครม.ได้ในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
ส่วนปีงบประมาณ 60 จะมีโครงการที่เสนอครม.ได้คือ สายสีส้ม (ตะวันตก) ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ซึ่งจะบรรจุในแผนปฏิบัติการปี 60 รวมถึงและสายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) ระยะทาง 7 กม.วงเงิน 11,989 ล้านบาท และสายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู ) ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 13,701 ล้านบาท
2.แผนงานรถไฟ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,853.18 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-บางซื่อ) และแดงอ่อน (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) จะเข้าคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
ส่วนรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาท และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม.วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอการรถไฟแห่งประเทศไทย( ร.ฟ.ท.) พิจารณาเสนอกระทรวง คาดเสนอ ครม.ได้ในก.ย.
ขณะที่มีแผนเร่งรัดรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วง บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 กม. และจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. และช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. นั้น จะเร่งบรรจุในแผนปฎิบัติการปี 60
3.แผนรถไฟความเร็วสูง มี 4 สาย 1.)ความร่วมมือไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา มูลค่าลงทุนประมาณ 170,000-190,000 ล้านบาท ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 4 ตอน โดยตอนที่ 1 ระยะทาง 3.5 กม. ตอนที่ 2 ระยะทาง 10 กม. ตอนที่ 3 ระยะทาง 110 กม. ตอนที่ 4 ระยะทาง 120 กม. อยู่ระหว่างฝ่ายจีน ออกแบบรายละเอียด ช่วง 3.5 กม. ส่งแบบในเดือน ก.ค.นี้
2.) ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลกกรอบวงเงินลงทุน 224,416 ล้านบาท โดยรายงานการศึกษาเบื้องต้นจะแล้วเสร็จเดือนมิ.ย. รอเอกสารรายงาน ออกแบบในปี 60 เริ่มก่อสร้างปี 61-62
3.) เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 165 กม.กรอบวงเงินลงทุน 94,673.16 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน PPP เตรียมเสนอคณะกรรมการ PPP ในไตรมาส 4/59 หรือภายในเดือน ก.ย. นี้
4.) เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 193.50 กม. กรอบวงเงินลงทุน 152,528 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน PPP เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ในไตรมาส 4/59 หรือ ก.ย. นี้
“ขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างทำแผนปฎิบัติการปี 60 โดยจะพิจารณา โครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการขออนุมัติโครงการได้ ซึ่งจะมีทั้งระบบราง ทางน้ำ อากาศ ถนน โดยจะมีบางโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และแผนพัฒนาอู่ตะเภาด้วย"นายอาคมกล่าว
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติจากครม.แล้ว อยู่ระหว่างประกวดราคาคัดเลือกผู้รับจ้างเดินรถคือสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) คณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน ฯ 56 พิจารณารูปแบบ เจรจาตรง กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ซึ่งจะต้องเสนอ คณะกรรมการ PPP พิจารณาเห็นชอบก่อนคาดว่าจะพิจารณาในเดือน ก.ค.นี้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม.วงเงิน 51,810 ล้านบาท ออกประกาศเชิญชวนประกวดราคาคัดเลือกผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.59 โดยตามแผนจะกำหนดขายเอกสารประกวดราคาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.- 5 ส.ค.นี้และรับซองข้อเสนอในวันที่ 7 พ.ย.59 พิจารณาข้อเสนอประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะเจรจา และเสนอ ครม.เห็นชอบ คาดลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน เม.ย.60
ส่วนสายสีส้ม(ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21 กม. วงเงิน 92,532 ล้านบาท กำลังหาผู้รับจ้างก่อสร้าง โดยประกาศเชิญชวนให้ซื้อซองเอกสารประกวดราคา ระหว่างวันที่ 15-29 ก.ค.และกำหนดยื่นซองข้อเสนอประกวดราคา วันที่ 31 ต.ค.นี้ และคาดว่าพิจารณาซองข้อเสนอ 2-3 เดือน จะลงนามสัญญาในเดือน ม.ค.-ก.พ. 60 เพื่อเริ่มการก่อสร้าง
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างของสายสีน้ำเงินต่อขยาย ขณะนี้เกือบ 80% แล้วส่วนสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) คืบหน้า 80% ขณะที่การโอนให้ กทม.เดินรถ คาดว่าจะเปิดเดินรถช่วง 1 สถานีจากแบริ่ง-สำโรงได้ในเดือน ธ.ค.59 ส่วนสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) คืบหน้าเกือบ 10%