ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า เทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคในปัจจุบันได้ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่ม Generation Y ซึ่งมีพฤติกรรมที่ชอบความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และมีความเป็นตัวเองสูง ภาคธุรกิจจำเป็นที่จะต้องปรับตัวรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตอบสนองความต้องการด้านผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้า การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ทั้งในด้านการจัดการต้นทุนหรือการคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเชิงกายภาพไปเป็นรูปแบบดิจิตอล เช่น การเรียกใช้บริการ Taxi ที่ต้องเรียกตรงถนนเปลี่ยนเป็นเรียกผ่าน Application ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ส่งผลธุรกิจที่ยังไม่ได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเป็นอย่างมาก เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา Blockbuster ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเช่าวิดีโอต้องปิดกิจการลงเพราะลูกค้าหันไปใช้บริการ Netflix ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามผู้บริโภคโดยรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ซึ่งการที่ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อและชำระเงินได้เร็วนำมาซึ่งวงจรธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้ต้นทุนการสต๊อกสินค้าลดลงและยังส่งผลไปยังราคาที่สามารถปรับลดลงได้ ซึ่งท้ายที่สุดผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากราคาที่ถูกลงหรือบริการที่ดีขึ้น นอกจากนั้นการใช้ e-Payment ผ่านระบบธนาคารทำให้ธนาคารสามารถตรวจสอบการชำระเงินย้อนหลังได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องและมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นำมาซึ่งโอกาสในการขอสินเชื่อเพื่อนำมาขยายกิจการ สุดท้ายจะทำให้การลงทุนโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น
ในแง่ของผู้บริโภค e-Payment ตอบสนองความต้องการในด้านความสะดวก การซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องพกเงินสด สามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือเลขบัตรประชาชนในการโอนเงินเพื่อชำระสินค้าได้ สามารถตัดสินใจในการซื้อและชำระเงินได้รวดเร็ว นอกจากนั้นแล้วการที่มีธุรกรรมผ่านธนาคารทำให้มีการเข้าถึงทางการเงินเพิ่มขึ้นนำมาซึ่งโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเงินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลถึงทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดการบริโภคโดยรวมของทั้งประเทศสูงขึ้น
คำถามที่ตามมาคือทำอย่างไรที่ธุรกิจธรรมดาที่ไม่ใช่อีคอมเมิร์ซถึงจะปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลได้? รัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวนี้ จึงได้ร่วมพัฒนาระบบการชำระเงิน e-Payment ขึ้นเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบความสะดวกสบายในการธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือแทนที่จะต้องถือเงินสด ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจทั้งหมดได้ประโยชน์การการชำระเงินที่ง่ายขึ้น
จากผลการศึกษาของ Moody’s Analytics ในเรื่อง e-Payment ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าหากประเทศไทยมีการใช้สัดส่วน e-Payment เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.02% ซึ่งเมื่อรวมกับที่ศูนย์วิเคราะห์ฯคาดว่าสัดส่วนการใช้ e-Payment ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 50% ของการชำระเงินโดยรวมจะเพิ่มขึ้นปีละ 5% ดังนั้น การใช้ e-Payment จะผลักดันให้ GDP สูงขึ้นเป็นมูลค่า 13,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.1%
ทั้งนี้การที่จะให้ e-Payment เป็นที่ยอมรับในวงกว้างจำเป็นที่รัฐและผู้ให้บริการรับชำระเงินจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจว่าระบบการชำระเงินแบบเสมือนจริงนี้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากกว่าการใช้เงินสด ทั้งในแง่ระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น ป้องกันการ Hack หรือ ปลอมแปลงตัวตนของผู้ทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้น จะนำมาซึ่งจำนวนธุรกรรมที่สูงขึ้น ท้ายที่สุด การใช้ e-Payment ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจะดันให้เศรษฐกิจขยายตัวตามไปในยุคดิจิตอลนี้