บีโอไอแนะนักลงทุนไทยมองโอกาสกลุ่มตลาดใหม่ 5 ประเทศชูศักยภาพเศรษฐกิจโตเร็ว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยผลการศึกษาเชิงลึกกลุ่มประเทศตลาดใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยแนะนำประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว พบว่าศรีลังกามีสิทธิตามกรอบเอฟทีเอเป็นประตูสู่ตลาดเอเชียใต้ ส่วนการลงทุนในยูกันดาและมองโกเลียเน้นกลุ่มเครื่องหนัง โรงไฟฟ้า เครื่องประดับ ขณะที่โมซัมบิกและอุซเบกิสถานมีทรัพยากรสำคัญที่น่าสนใจ

"บีโอไอให้ความสำคัญกับการศึกษาศักยภาพและโอกาสของการลงทุนในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียกลาง เป็นกลุ่มประเทศหลักที่บีโอไอเล็งเห็นความสำคัญจากความน่าสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และแรงงานที่จะสร้างความได้เปรียบในการผลิตสินค้าและสร้างฐานการผลิตใหม่ให้นักลงทุนไทย"นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าว

สำหรับผลการศึกษาดังกล่าวเป็นข้อมูลเชิงลึกที่บีโอไอร่วมมือกับสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังลงพื้นที่จริงสำรวจกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงโอกาสตลอดจนระเบียบวิธีปฏิบัติ สภาวะทางธุรกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญยังได้นำเสนอปัญหาและอุปสรรคจากนักลงทุนไทยที่ได้เข้าไปลงทุนจนประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ช่วยให้นักลงทุนทราบข้อมูลสำคัญ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนออกไปลงทุนจริง

"วันนี้นักลงทุนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องแรงงานและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อาทิ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก บีโอไอจึงเห็นศักยภาพในกลุ่มประเทศตลาดใหม่นี้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เติบโตเร็ว มีความน่าสนใจให้เข้าไปลงทุน เชื่อว่าข้อมูลที่นำมาเผยแพร่จะสร้างโอกาสในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่นักลงทุนไทยก็ต้องปรับตัวเพื่อมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มตลาดใหม่ นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดเดิม"นายโชคดี กล่าว

สำหรับศรีลังกา ในช่วงระหว่างปี 2003-2015 ได้มีบริษัทไทยหลายบริษัทเข้าไปลงทุนในประเทศศรีลังกา โดยส่วนใหญ่จะเป็น ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึง อาหารแปรรูป จากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยจะมีสาขายางสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า อาหารแปรรูป การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาหารสัตว์ เป็นต้น ที่สำคัญศรีลังกามีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอินเดียและปากีสถาน รวมทั้งได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรปและอเมริกา นักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอและจีเอสพีเหล่านี้ในการเข้าถึงตลาดได้สะดวกขึ้น

ยูกันดา ในช่วงระหว่างปี 2003-2015 บริษัทไทยที่เข้าไปสร้างโรงงานเป็นบริษัทผลิตเครื่องสำอาง และจำหน่ายสินค้าปลีก ที่ตั้งของประเทศเป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการกระจายสินค้าของทวีปแอฟริกา โอกาสที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนคือ การลงทุนในสาขาเครื่องหนัง เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมฟอกหนังไปถึงรองเท้า เข็มขัด กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์หนัง สำหรับโรงแรม นอกจากนั้นยังมีโอกาสการลงทุนในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาทิ ปลากระป๋อง ไส้กรอก น้ำมันปลา เป็นต้น ที่สำคัญยูกันดาเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศและอากาศสมบูรณ์ ทำให้ปลูกพืชบางชนิดได้ 2 ฤดู จึงเหมาะแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์

มองโกเลีย บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนแล้วจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากพื้นที่ของประเทศมองโกเลียอุดมไปด้วยแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ทองแดง ถ่านหิน โมลิบดีนัม ดีบุก ทังสเตน และทองคำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ความหลากหลายในภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้มองโกเลียมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุน คือ การทำเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจด้านการศึกษา

โมซัมบิก เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เกษตรกรรมน้อย มีเขตชลประทานที่อุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ราคาถูก แต่ขาดการแปรรูปสินค้า นักลงทุนไทยจึงมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูป เช่น อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง

ส่วนอุซเบกิสถาน เป็นประเทศที่มีทรัพยากรหลัก ได้แก่ ผลไม้ ฝ้าย และถั่วต่าง ๆ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จะส่งออกขั้นพื้นฐานโดยไม่มีการแปรรูป รัฐบาลของอุซเบกิสถาน จึงกำหนดนโยบายภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้า โดยเฉพาะการแปรรูปให้เป็น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ