รัฐส่งพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีให้ชาวนา 21 จังหวัด หวังผลผลิตเพิ่ม 10-15%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้เร่งนำเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพดี จัดส่งให้ชาวนาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงราย และพะเยา รวมจำนวน 7,857,050 กิโลกรัม ปลูกในพื้นที่ 628,560 ไร่ ซึ่งมี 2 จังหวัด คือเชียงใหม่และจังหวัดเลย ไม่ขอเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ปลูกข้าวเหนียว และมีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิจำนวนน้อย

ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559

สำหรับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนการปลูกข้าวกับกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ อยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตและขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 อัตราไร่ละ 12.50 กิโลกรัม ชาวนา 1 ครัวเรือน ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เกิน 125 กิโลกรัม คาดหวังให้ผลผลิตสูงขึ้น 10-15% หลังปรับเปลี่ยนใช้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี ชาวนาส่วนหนึ่งสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ในฤดูถัดไป

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ความมุ่งหวังของรัฐบาลในการดำเนินการตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี 2559/60 ต้องการที่จะดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวให้สมดุลกับความต้องการตลาด โดยกำหนดพื้นที่เพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 ปี 2559/60 ไว้ 54.80 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิ 25.85 ล้านไร่ ข้าวหอมปทุม 1.22 ล้านไร่ ข้าวเจ้า 13.50 ล้านไร่ ข้าวเหนียว 14.01 ล้านไร่ ข้าวอื่นๆ (ข้าวสีและข้าวอินทรีย์) 0.22 ล้านไร่

การนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวนาได้ใช้แทนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้เอง จะเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพ เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตเฉลี่ยข้าวหอมมะลิซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ยังมีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 353 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ศักยภาพของพันธุ์ข้าวหอมมะลิสามารถให้ผลผลิตได้ถึง 600 กิโลกรัมต่อไร่ สาเหตุหนึ่งมาจากชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้เองต่อเนื่องหลายปีมาปลูกจึงมีคุณภาพต่ำ

ปัจจัยที่จะทำให้การปลูกข้าวได้ผลผลิตดีมีคุณภาพนั้น ประกอบไปด้วยคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำ และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง แต่ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง และมีผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจำหน่ายในปริมาณน้อย กรมการข้าวจึงได้จัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เชื่อถือได้ เพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตซึ่งเป็นตลาดที่ส่งออกสำคัญของประเทศ โดยกรมการข้าวได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์วิจัยข้าว ออกติดตามการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชาวนาได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ไปเพาะปลูก รวมทั้งให้คำแนะนำการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราการปลูกที่เหมาะสม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวให้แก่ชาวนา สร้างการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อความยั่งยืนในการผลิตเมล็ดพันธุ์

ด้านนายธีระพงษ์ พุทธรักษา ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 3,931,678 ไร่ กำหนดโซนนิ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าว (S1+S2) รวม 2,556,052 ไร่ ได้รับการจัดสรรเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จากโครงการฯ จำนวน 968,750 กิโลกรัม ขณะนี้ได้จัดส่งในพื้นที่ 29 อำเภอ ทั้งหมด 155 หมู่บ้าน รวม 7,750 ครัวเรือน รวมพื้นที่ปลูก 77,500 ไร่ เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทำงานประสานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในการเข้าไปพบชาวนาเพื่อติดตามให้คำแนะนำการปลูก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยชาวนาสามารถคัดเลือกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ปลูกในหมู่บ้าน พร้อมพัฒนาเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือรวมกลุ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อรวมผลผลิตขายเป็นในการจัดหาซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากเครือข่ายมาปลูกในฤดูถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ