ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มิ.ย.59 อยู่ที่ 71.6 ลดลงจาก 72.6 ในเดือน พ.ค.59 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 60.6 ลดลงจาก 61.1 ในเดือน พ.ค.59
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 66.5 ลดลงจาก 67.7 ในเดือน พ.ค.59 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.6 ลดลงจาก 89.0 ในเดือน พ.ค.59
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการทำประชามติว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปหรือไม่ (Brexit) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน และกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย, การส่งออกในเดือน พ.ค.59 ลดลง 4.4% ซึ่งขยายตัวติดลบต่อเนื่องสองเดือน
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปี 59 อยู่ที่ระดับ 3.1% และปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 60 ลงมาอยู่ที่ 3.2% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.3%, ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าสูง
ด้านปัจจัยบวก มาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%, ความคาดหวังของประชาชนว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุว่า การบริโภคของภาคเอกชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี มองว่าการฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และประสิทธิภาพการใช้จ่ายและการลงทุนนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สัญญาณที่เห็นชัดสุดว่าเป็นบวกต่อระบบเศรษฐกิจไทยคือ ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อในต่างจังหวัดดีขึ้น ประกอบกับมีข้อมูลที่เกษตรกรเริ่มรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ทั้งราคายางพารา, ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลายตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค. ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเริ่มขยายตัวเป็นบวก
แต่ขณะเดียวกันปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลมากในช่วงนี้ คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจากกรณีที่ประเทศอังกฤษลงประชามติแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit)
“นี่คือปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นตัวเดียวในดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเป็นบวก คือ คนรับรู้ว่าเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นขึ้น และกำลังซื้อ ยอดขายเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ Brexit ซึ่งคนมีความกังวลสูง คนไม่มั่นใจว่า Brexit จะมีผลกระทบต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยหรือไม่"นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี Brexit อาจเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเป็นขาลง เพราะอาจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น จึงต้องรอดูข้อมูลเดือนหน้าประกอบด้วย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้กังวลมากกว่า คือ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 55 เดือน ประกอบกับ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่าอัตราการว่างงานล่าสุดของไทยอยู่ที่ 1.2% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี จากในช่วงปี 54-58 อัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับไม่เกิน 1% เท่านั้น
“อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนมี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. และจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มจาก 3.5 แสนคน มาเป็น 4.5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ว่างงานจะเป็นบัณฑิตจบใหม่ เป็นภาวะที่ประเทศไทยมีการจ้างงานใหม่เข้ามาน้อย นี่คือสิ่งที่เราห่วงมากกว่า เพราะ Brexit เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในอนาคต แต่ตัวเลขการจ้างงานเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอ่อนๆ นั้น การจ้างงานจะต้องวิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัวไปพร้อมกัน คือควรจะเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ตอนนี้แม้เศรษฐกิจจะฟึ้น แต่การจ้างงานยังไม่ค่อยดี ซึ่งทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัว แต่ยังมีความเปราะบาง"นายธนวรรธน์ กล่าว