นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์การทำประชามติว่าอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหาภพยุโรปหรือไม่ (Brexit) อาจจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลงประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยด้านการท่องเที่ยวของประชาชนที่ลดลงจากการขาดความเชื่อมั่น ซึ่งส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลง 0.1-0.3% จากมุมมองของ ม.หอการค้าไทย เดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3-3.5% ได้ปรับลดลงมาเหลือเติบโต 2.7-3.2%
นอกจากนั้น ในอนาคตต่อไปคงต้องจับตาดูว่าสถานการณ์ Brexit จะส่งผลกระทบรุนแรงหรือไม่ต่อเศรษฐกิจไทย ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะความผันผวนของค่าเงินสกุลหลักในประเทศต่างๆ ทั้งเงินเยน เงินปอนด์ เงินยูโร เป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องมาถึงภาคการค้าระหว่างประเทศด้วย และทำให้ ม.หอการค้าไทย ปรับลดมุมมองการส่งออกของไทยในปีนี้เหลือ -2 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 0-1%
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักและน่าจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นได้ โดยประชาชนยังมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อทำให้เงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปีงบประมาณ 59 ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การขับเคลื่อน"ไทยแลนด์ 4.0"เป็นต้น
“ถ้า Brexit ไม่รุนแรง และรัฐบาลสามารถเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ โดยมีเงินหมุนเวียนในทั่วประเทศ ราคาน้ำมันไม่ทรุดลง สินค้าเกษตรทรงตัวในระดับนี้ เราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 โดยเชื่อว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3-3.2% ในขณะที่ครึ่งปีหลังยังต้องประคองความเสี่ยงจากสถานการณ์ Brexit" นายธนวรรธน์ กล่าว