กบง.มีมติคงราคา LPG เดือนก.ค.,ปรับเงินนำส่งกองทุนน้ำมันฯหลังรัฐจะขึ้นภาษีสรรพสามิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้อนุมัติให้คงราคาขายปลีกก๊าซปืโตรเลียมเหลว (LPG) เดือนก.ค.59 ไว้ที่ 20.29 บาท/กิโลกรัม (กก.) แม้ว่าสถานการณ์ราคา LPG ในเดือนนี้จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหา LPG ทั้งระบบลดลง แต่เนื่องจากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ก.พ.-มิ.ย.) ได้มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของ LPG ชดเชยราคาเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ จึงเห็นควรให้คงราคาขาย LPG ในเดือนนี้ไว้ในระดับเดิม

ทั้งนี้ ราคา LPG ในตลาดโลกเดือนก.ค.59 อยู่ที่ระดับ 301 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน 43 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมิ.ย.59 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1418 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.4733 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยการจัดหาก๊าซ LPG ทั้งระบบ ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (LPG Pool) ลดลง 0.6607 บาท/กก. จาก 13.9150 บาท/กก. เป็น 13.2543 บาท/กก.

พร้อมกันนี้ กบง.ให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้น 0.6607 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย 0.5960 บาท/กก. เป็นส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ 0.0647 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.59 เป็นต้นไป

การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับประมาณ 22 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 ก.ค.59 อยู่ที่ 44,461 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 7,128 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 37,333 ล้านบาท

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.59 เห็นชอบหลักการของร่างประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) เพื่อปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน และน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นที่คล้ายกัน โดยเป็นการดำเนินการให้มีผลบังคับสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดในการปรับอัตราภาษีสรรพสามิต

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับการปรับอัตราสรรพสามิตในข้างต้น และไม่กระทบกับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค ที่ประชุมกบง. จึงเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วใหม่ โดยคาดว่าจะมีผลพร้อมกับในวันที่มีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

สำหรับภาษีสรรพสามิตใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยน้ำมันเบนซิน จะจัดเก็บในอัตรา 6.30 บาท/ลิตร จากเดิมที่ 6 บาท/ลิตร ,แก๊สโซฮอล์ 95 จัดเก็บในอัตรา 5.67 บาท/ลิตร จากเดิม 5.40 บาท/ลิตร ,แก๊สโซฮอล์ 91 จัดเก็บ 5.67 บาท/ลิตร จากเดิมที่ 5.40 บาท/ลิตร ,E20 จัดเก็บ 5.04 บาท/ลิตร จากเดิมที่ 4.80 บาท/ลิตร ,E85 จัดเก็บ 0.945 บาท/ลิตร จากเดิมที่ 0.90 บาท/ลิตร และดีเซล จัดเก็บ 5.65 บาท/ลิตร จากเดิมที่ 5.35 บาท/ลิตร

ขณะที่การจัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีอัตราเปลี่ยนแปลงไป โดยน้ำมันเบนซิน จัดเก็บ 6.31 บาท/ลิตร เท่ากับอัตราเดิม , แก๊สโซฮอล์ 95 จัดเก็บ 0.1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.254 บาท/ลิตร ,แก๊สโซฮอล์ 91 จัดเก็บ 0.1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.209 บาท/ลิตร ,E20 ชดเชย 3 บาท/ลิตร จากเดิมชดเชย 2.752 บาท/ลิตร ,E85 ชดเชย 9.350 บาท/ลิตร จากเดิมชดเชย 9.296 บาท/ลิตร และดีเซล จัดเก็บ 0.01 บาท/ลิตร จากเดิม 0.14 บาท/ลิตร

จากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าวจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องลดลงประมาณ 383 ล้านบาท/เดือน จากมีรายรับ 13 ล้านบาท/เดือน เป็นมีรายจ่าย 371 ล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ จากการโอนอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นอัตราภาษีสรรพสามิตจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 800 ล้านบาท/เดือน จาก 15,252 ล้านบาท/เดือน เป็น 16,053 ล้านบาท/เดือน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รักษาสิ่งแวดล้อม ก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนน และลดอุบัติเหตุจากการจราจร

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง. รับทราบแนวทางการบริหารจัดการและมาตรการรองรับกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA - A18) หยุดซ่อมบำรุงประจำปี ระหว่างวันที่ 20-31 ส.ค.59 รวม 12 วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซฯหายไปจากระบบ ประมาณ 421 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน และบางส่วนจำเป็นต้องหยุดผลิต และผลกระทบต่อการจำหน่ายก๊าซฯ ของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวน 14 สถานี

เพื่อรองรับผลกระทบจากการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว กระทรวงพลังงานจึงได้เตรียมความพร้อม โดยในด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบผลิต ดำเนินการโดยให้โรงไฟฟ้าจะนะพร้อมเดินเครื่องด้วยดีเซล ตรวจสอบโรงไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมดให้พร้อมใช้งาน งดการหยุดเครื่องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และประสานการไฟฟ้ามาเลเซียขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน ,เชื้อเพลิงสำรอง เตรียมการโดยให้มีการสำรองน้ำมันให้เพียงพอและเต็มความสามารถในการจัดเก็บ พร้อมทั้งประสานงานให้บมจ.ปตท. (PTT) จัดส่งน้ำมันระหว่างการดำเนินงานเพื่อให้สามารถรองรับความล่าช้า 3 วัน และระบบส่ง เตรียมความพร้อมโดยให้มีการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญในภาคใต้ให้พร้อมใช้งาน และงดการทำงานบำรุงรักษาระบบส่งในช่วงเวลาหยุดจ่ายก๊าซฯ

ด้านการสำรอง NGV โดยให้มีการจัดส่งก๊าซ NGV จากสถานีหลักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมสำรองก๊าซฯ ไว้ล่วงหน้าที่สถานีก๊าซฯ หลักจะนะ และด้านการประชาสัมพันธ์ จะมีการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซฯโดยเฉพาะการลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.00 – 21.30 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงที่ในพื้นที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ