เลขาฯ บีโอไอ ยันญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นไทย เตรียมขยายลงทุนสู่อุตฯเทคโนโลยีสูง-ภาคบริการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงการจัดงานสัมมนา Bangkok Nikkei Forum 2016 ว่า งานนี้มีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 400 คน โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยและแสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากตัวเลขยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงเป็นอันดับ 1 ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งยังช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนในประเทศไทย ตลอดจนได้สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน นักลงทุนญี่ปุ่นจึงถือเป็นมิตรแท้ด้านการลงทุนของประเทศไทยอย่างแท้จริง

รูปแบบการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่นักลงทุนญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญและมีฐานการผลิตที่เข้มแข็งในประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น แต่ยังจะก้าวไปสู่การผลิตที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีการต่อยอดเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต รวมทั้งยังมุ่งไปสู่ภาคบริการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนกิจการเดิม การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) หรือการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอและประเทศไทย

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า หลังจากการปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 58 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักลงทุนญี่ปุ่น ทั้งที่พบปะหารือในประเทศไทยและการนำคณะผู้บริหารระดับสูงไปพบปะที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ในปี 2558 มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่น ยังคงเป็นอันดับหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงทุนจากต่างประเทศโดยรวม โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมแล้วประมาณ 1 แสนล้านเยน มีโครงการการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 168 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการกลุ่มการบริการ เช่น กิจการบริการการค้าระหว่างประเทศ และกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน รองลงมาคือ กิจการในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร และในกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ

สำหรับในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีโครงการของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 121 โครงการ มูลค่า 20,850 ล้านบาท หรือประมาณ 62,550 ล้านเยน ซึ่งเป็นกิจการในกลุ่มบริการถึง 48 โครงการ โดยเป็นกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) รวม 39 โครงการ

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งจะมีการเพิ่มเพดานสิทธิประโยชน์ให้กับโครงการลงทุนที่มีคุณค่ากับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิมสูงสุด 8 ปีเป็นสูงสุด 13 ปีภายใต้ พ.ร.บ.บีโอไอฉบับใหม่ และการตั้งกองทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมายและการประกาศใช้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนในกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ บีโอไอบีโอไอได้ดำเนินการปรับปรุงการให้บริการด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี “ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ OSOS" คอยให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในการจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทย และในช่วงปีที่ผ่านมาบีโอไอได้นำระบบ IT มาใช้เสริมการให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระการจัดเตรียมเอกสารของนักลงทุน มีความชัดเจนเรื่องกำหนดเวลา เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการ อาทิ การอำนวยสิทธิประโยชน์ด้านๆ เช่น การนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และการนำเข้าช่างฝีมือมาทำงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม สามารถจะใช้สิทธิประโยชน์ผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง การขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-tax) การรายงานผลการประกอบการตามขั้นตอน เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดขั้นตอน ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งประการที่นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจเข้ามาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ