นายลวรรณ แสงสนิท ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในการปาฐกถา "ผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับใหม่ 2559" ว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่กำหนดให้ผู้ที่ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาประเมินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสียภาษี โดยมีเพดานการจัดเก็บภาษีสูงสุดไม่เกิน 5% นั้น คงส่งผลกระทบเพียงแค่คนส่วนน้อยของประเทศที่มีการถือครองที่ดินในมูลค่าสูง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของประเทศมีการถือครองที่ดินในมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท
สำหรับการเก็บภาษีที่ดินที่แยกเป็นกลุ่มตามประเภทการถือครองที่ดิน โดยกลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ใช้ที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม กำหนดอัตราการเก็บภาษีไม่เกิน 0.2% นั้น มองว่ามีเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรจริงๆ ที่ถือครองที่ดินมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาทเป็นจำนวนน้อยที่มาก แม้ว่าจะมีเกษตรกรบางรายถือครองที่ดินจำนวนมากถึง 20-30 ล้านไร่ แต่เมื่อคิดราคาประเมินแล้ว ราคาประเมินเฉลี่ยของที่ดินที่เกษตรกรถือครองจะอยู่ที่ราคากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ถึงระดับราคาประเมินที่ต้องเสียภาษีในอัตราใหม่ จึงทำให้ไม่กระทบกับเกษตรกร แต่มองว่าจะไปกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ที่ราคาประเมินเข้าเกณฑ์เสียภาษี
ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นผู้ถือครองที่ดินเพื่อเป็นที่พักอาศัย ที่มีอัตราการจัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.5% คาดว่าจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยในประเทศไทยที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ที่เข้าเกณฑ์ภาษีทั้งหมด 1 หมื่นยูนิต จากจำนวนยูนิตทั้งหมดในประเทศ 22 ล้านยูนิต ดังนั้นจึงมองว่าไม่เกิดผลกระทบกับผู้ที่มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มากนัก และในส่วนของที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 นั้น ก็มีจำนวนผู้ที่มีบ้านหลังที่สองในประเทศอยู่เพียงไม่มาก ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ในประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบจากการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่
กลุ่มที่สาม คือ ผู้ถือครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อย่างเช่น เพื่อการพาณิชยกรรม เพื่อใช้เป็นโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการเก็บภาษีไม่เกิน 2% ซี่งในกลุ่มนี้ฐานภาษีจะคิดคำนวณแบบใหม่ โดยไม่นำเครื่องจักรมาคิดคำนวณภาษี โดยจะคิดคำนวณที่ดินและโรงงาน ซึ่งหากผุ้ประกอบการมีการเสียภาษีที่ดินและโรงเรือนอย่างถูกต้องคาดว่าการจัดเก็บภาษีแบบใหม่จะใกล้เคียงกับการจัดเก็บภาษีแบบเดิม ซึ่งก็ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องเป็นกังวลมากนัก
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่ยังมีข้อยกเว้นที่มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และธนาคารต่างๆ เพื่อผ่อนคลายกฏระเบียบบางอย่างให้มีความเหมาะสม โดยมีการยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีให้กับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3 ประเภท ได้แก่ 1.ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม จะได้รับการยกเว้นภาษี เพราะเป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่หากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นำที่ดินส่วนกลางไปขายสมาชิกก็จะต้องเสียภาษี เพราะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
2.ที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จะได้รับการพิจารณายกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร หากเลยระยะเวลา 3 ปี แล้วจะเก็บภาษีในอัตราพิเศษที่ 0.05% และ 3.สินทรัพย์รอการขายของธนาคาร (NPA) ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีเป็นระยะเวลา 5 ปี หากเกินระยะเวลาการยกเว้นภาษีจะจัดเก็บภาษีในอัตราพิเศษที่ 0.05%
นายลวรรณ ยังกล่าวว่าสำหรับผลกระทบต่อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นั้น มองว่าจะมีผลกระทบต่อบางกองทุนที่มีที่ดินและอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ อยู่ในทำเลที่เป็น Prime Area เช่น ที่ดินในเมือง และอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ซึ่งมีราคาประเมินสูง ส่งผลให้กองทุนบางกองจะต้องเสียภาษี แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกังวลมากนัก
ทั้งนี้ สำนักเศรษฐกิจการคลังมองประโยชน์ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่จะช่วยให้เกิด Supply ของที่ดินใหม่เกิดขึ้น โดยคาดหวังว่าประชากรระดับบนหรือเจ้าของที่ดินเดิมที่มีสัดส่วน 10% ของประชากรในประเทศทั้งหมด ที่มีการถือครองที่ดินราว 70% ของที่ดินในประเทศทั้งหมด และไม่ได้นำที่ดินมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า จะมีการกระจายที่ดินออกไปให้ประชากรคนอื่นบ้าง และนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย หรือการนำมาพัฒนาเพื่อสร้างรายได้เกิดขึ้น โดยไม่ปล่อยที่เป็นที่ดินรกร้าง นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือทางอ้อมให้เกษตรกรที่ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ สามารถเข้าถึงที่ดินเพื่อใช้ประกอบอาชีพได้เพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดการเก็งกำไรที่ดินลง แต่ในเรื่องการลดความเลื่อมล้ำทางสังคมนั้นมองว่าจะได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่งจากอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบก้าวหน้า และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 หมื่นล้านบาทต่อปี จากเดิมที่จัดเก็บภาษีได้ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพียงพอต่อการบริหารจัดการเขตพื้นที่ของตนเอง