(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย 1 แสนลบ.ประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ 2-3%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 12, 2016 17:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย วงเงิน 1 แสนล้านบาท รับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ 2-3% เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยจะจดทะเบียนกองทุนรวมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใน 1 เดือน

ขณะที่ กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ในระยะแรกกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงทุนรายเดียวในกองทุนรวมดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 8/2559 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมฯ) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 พ.ค.59 และเห็นชอบกลไกการรับประกันผลตอบแทนที่ให้มีกองทุนหมุนเวียนโดยให้ตราเป็น พ.ร.บ.เพื่อรักษาระดับผลตอบแทนของกองทุน รวมถึงสร้างจูงใจและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ ครม.ยังได้รับทราบโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้เข้าสู่กองทุนฯ ประกอบด้วย โครงการของกรมทางหลวง 2 โครงการ และโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงรายละเอียดโครงสร้างกองทุนรวมฯ ว่า กองทุนรวมฯ มีลักษณะเป็นรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะจัดตั้งภายใต้ประกาศและหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเป็นกองทุนปิด (ไม่กำหนดอายุโครงการ) โครงสร้างกองทุนรวมฯ ในระยะแรกให้กระทรวงการคลังลงทุน 10,000 ล้านบาท โดย 1,000 ล้านบาทแรกให้กระทรวงการคลังลงทุนและดำเนินการจัดตั้งกองทุนรวมฯ ทันที โดยขณะนี้คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งและกำกับการดำเนินงานของกองทุนฯ ได้เห็นชอบผลการคัดเลือก บลจ.กรุงไทย และ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เพื่อดำเนินการเป็นผู้จัดการกองทุนในระยะแรก

ทั้งนี้ สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการสนับสนุนกองทุนรวมฯ (กองทุนหมุนเวียน) และได้ดำเนินการนำส่งให้กรมบัญชีกลางในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558

รวมทั้ง ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานเจ้าของโครงการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการคลังเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพตามที่กระทรวงคมนาคมได้รายงาน คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ของกรมทางหลวง และโครงการของ กทพ. รวมทั้งโครงการอื่นๆ เข้าสู่กองทุนรวมฯ โดยเร็ว

ขณะที่คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งและกำกับการดำเนินงานของกองทุนฯ อยู่ระหว่างการจ้างคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วย ที่ปรึกษาทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้จัดการการจัดจำหน่าย เพื่อดำเนินการจัดทำรายละเอียดและดำเนินการอื่นๆ เพื่อนำโครงการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นและโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่มีศักยภาพเข้าสู่กองทุน เพื่อให้สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.59

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของการจัดตั้งกองทุนรวมฯว่า กองทุนรวมฯ จะสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไป ซึ่งจะเป็นการลดข้อจำกัดของการใช้แหล่งเงินทุนจากงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และช่วยให้การบริหารจัดการหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นไปอย่างรวดเร็วและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว

ขณะที่นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการที่มีศักยภาพที่กองทุนรวมฯ จะเข้าลงทุนนั้น กรมทางหลวงแนะนำไว้ 2 โครงการคือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-บ้านฉาง และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการเดิม ซึ่งมีค่าผ่านทางที่จะจ่ายเงินคืนกลับไปให้กระทรวงคมนาคมเพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้

ส่วนที่น่าจะเป็นไปได้อีกโครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก โดยเงินที่ได้ทางกระทรวงคมนาคมก็อาจจะนำไปพัฒนาโครงการอื่นๆ เช่น โครงการยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ หรือ ทางยกระดับเส้นทางหลวงสาย 7 ชลบุรี-กทม. หรือ โครงการกาญจนาภิเษกตะวันตก บางบัวทอง-บางปะอิน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ