นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการผลการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ปี 2559 ภายใต้แนวคิด "Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย" เพื่อแสดงศักยภาพและพลังของ Smart Farmer, Young Smart Farmer, Smart Group และอาสาสมัครเกษตร ในงานส่งเสริมการเกษตร โดยกำหนดจัดงานในวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2559 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Young Smart Farmer และ Smart Farmer Model ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ปี 2559 ของกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการเชื่อมโยงประสานงานกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกรดีเด่นและอาสาสมัครเกษตร เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาหรือเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างได้ เป้าหมายรวม 400 คน
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการสัมมนาทางวิชาการ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การปฏิรูปภาคเกษตรไทย" การบรรยาย เรื่อง "Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรในอนาคต" จัดสถานีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ Smart Farmer และ Smart Group ต้นแบบ 8 สถานี มีเวทีเฉพาะกลุ่มเพื่อสร้างการเชื่อมโยงเครือข่าย สำหรับนิทรรศการกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อ Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. นโยบายการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 2. ผลงานความสำเร็จของต้นแบบ Smart Farmer และ Smart Group ใน 6 กลุ่ม อาทิ กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร ในหัวข้อ “ลดต้นทุน ขยายโอกาส" กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ในหัวข้อ “ความมั่นคงด้านอาหารในชุมชน" Young Smart Farmer ในหัวข้อ “อนาคตเกษตรไทย" อาสาสมัครเกษตร ในหัวข้อ “จิตอาสา พัฒนาการเกษตร" เป็นต้น 3. นิทรรศการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร จากหน่วยงานภาคี ในหัวข้อ “ประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรไทย" กิจกรรมมอบเข็มเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกรที่มีผลงาน Smart Products จาก Smart Farmer ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร 7 สาขา รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร
ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมมีจำนวนลดน้อยลงจนเหลือเพียง 38% ของประชากรทั้งหมด อายุโดยเฉลี่ยของเกษตรกรมากกว่า 50 ปี ขาดแรงงานในครัวเรือนภาคเกษตรวัยหนุ่มสาว อีกทั้งเกษตรกรขาดการพัฒนาความรู้และทักษะ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดเข้าสู่ภาคการเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเรียกว่า Young Smart Farmer ให้เป็น Smart Farmer ที่มีความพร้อม มีความรู้มีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร สามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและลักษณะการประกอบการของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการให้ความสำคัญในการใช้องค์ความรู้และข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีการนำเทคโนโลยี ภูมิปัญญาและวิธีการปฏิบัติที่ดีมาใช้หรือพัฒนา โดยตระหนักถึงคุณภาพมาตรฐานและปริมาณตามความต้องการของตลาด รวมถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน
ดังนั้นได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีบทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกรเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีการบริหารจัดการกลุ่มขั้นพื้นฐานไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย การมีส่วนร่วมเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามารถสืบค้น วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการพัฒนา และจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตมาคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้