นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เสถียรภาพระบบการเงินไทยอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เริ่มมีความเปราะบางในบางจุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก และครัวเรือนเกษตร ที่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา รวมทั้งผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำยาวนาน ขณะที่อัตราการว่างงานในประเทศยังไม่เป็นปัญหา แม้เพิ่มขึ้นต่อนเนื่อง 3-4 เดือน
ด้านเสถียรภาพการเงินด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ แต่ยังต้องเฝ้าระวังความไม่แน่นอนจากปัจจัยอื่นๆ จากนอกประเทศ อาทิ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ผลที่จะเกิดจาก Brexit ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากขึ้นจากภาวะเงินไหลเข้า-ออก แนะภาคเอกชนเน้นบริหารความเสี่ยง
นายวิรไท กล่าวในประเด็น"Financial Stability"ว่า เสถียรภาพระบบการเงินของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีการกันสำรองอยู่ในระดับที่สามารถรองรับกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้ดี ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศมีฐานการเงินที่เข้มแข็ง จึงไม่มีสถานการณ์ที่จะต้องกังวลดังเช่นในปี 40 ที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ ธปท.จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญและติดตามสถานการณ์ที่อาจจะยังมีความเปราะบางอยู่ คือในเรื่องของภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน ซึ่งก็จะเกิดภาวะการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และอาจทำให้นักลงทุนมองข้ามความสำคัญของความเสี่ยงที่จะได้รับอาจจะมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่หลักของผู้ขายผลิตภัณฑ์ที่จะต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องต่อนักลงทุน
“สิ่งสำคัญคือเวลาที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำไปนาน จะเกิดภาวการณ์แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น สิ่งสำคัญคือ เวลาที่เราไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราต้องแน่ใจว่าเราจะรับความเสี่ยงอะไรเพิ่มขึ้น...ที่เรากังวลคือประชาชนบางกลุ่มยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องการเงิน คือจะไปให้ความสำคัญกับผลตอบแทน โดยไม่เข้าใจความเสี่ยงที่ต้องรับมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ขายที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง"นายวิรไท กล่าว
ขณะเดียวกันปัจจัยภายนอกที่มองว่าเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยที่ ธปท.ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ที่อังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) แม้ว่าความตื่นตระหนกของนักลงทุนจะสงบลงแล้ว แต่อาจจะมีผลต่อเนื่องไปในระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการที่ต่อเนื่องนี้ต่อไป รวมถึงปฏิกิริยาจากประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะเรื่องนี้จะมีผลกระทบกับเงินที่ไหลเข้าออกของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งไทย และจะส่งผลทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินสูงขึ้น
“ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ามาในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งไทย แต่ไม่มีอะไรจะเป็นหลักประกันว่าเงินนี้จะอยู่กับเรายาว ๆ เพราะฉะนั้นการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ค่าเงินจะมีความผันผวนสูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังจะอยู่ในระดับสูงไปอีกนาน ตลอดจนปัจจัยจากกรณี Brexit ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในโครงสร้างระบบการเงิน และโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางของหลายประเทศอาจต้องใช้นโยบายการเงินในลักษณะผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน และมีการนำเงินไปลงทุนหรือหาผลตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวได้เมื่อเกิดปัจจัยลบที่เข้ามากระทบ และเมื่อความเปราะบางเกิดขึ้นในระบบการเงินก็จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจโดยรวมตามมา ดังนั้น หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลาง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือไว้พร้อมรองรับเพื่อใช้ในการลดความเสี่ยงเหล่านี้
“เรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน เราจะต้องตรวจจับสัญญาณต่างๆ ให้ไว มีเครื่องมือที่พร้อมใช้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมองไปข้างหน้ามากๆ ธปท.จะยึดหลักที่ว่า จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม" นายวิรไท ระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท. ย้ำด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับปัจจุบันไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันจะต้องจับตาความผันผวนและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกว่าจะมีปัจจัยไหนเป็นความเสี่ยงที่เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งคงจะได้มีการรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 ส.ค.นี้
ส่วนกรณีที่ล่าสุดธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 3.00% จากเดิมที่ 3.25% นั้น เป็นเพราะก่อนหน้านี้มาเลเซียไม่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมานานแล้ว ซึ่งคงจะไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทย เนื่องจากนโยบายการเงินจะต้องตอบโจทย์ประเทศของตัวเองมากที่สุด
“มาเลเซียเขาไม่ได้ลดดอกเบี้ยมานานแล้ว เขาลดจาก 3.25% มาเหลือ 3% ซึ่งนโยบายการเงินต้องตอบโจทย์ประเทศใครประเทศมัน ต้องดูภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์เสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพการเงินในประเทศเป็นหลัก" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
สำหรับอัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะ 3-4 เดือนนี้ นายวิรไท มองว่ายังไม่ใช้ภาวะที่ต้องกังวล เพราะการว่างงานเกิดขึ้นมาจาก 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มเกษตรกร อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ที่เรียนจบออกมาในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
แต่เชื่อเมื่อสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย อัตราการว่างงานในภาคเกษตรก็จะลดลง และในภาพรวมมองว่าประเทศไทยยังมีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
“เรายังไม่เห็นการปรับลดการจ้างงานที่น่าตกใจ ตัวเลขการจ้างงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งภาพรวมยังทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยว"นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวถึงปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.ว่า คงไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะหากแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ แต่นักลงทุนและตลาดเองก็รับรู้ความเสี่ยงของสถานการณ์ดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยอมรับว่าอาจทำให้การลงทุนในประเทศชะลอออกไป ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเอกชนในประเทศเอง เนื่องจากนักลงทุนคงต้องการรอดูแนวนโยบายและโฉมหน้ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 60 ก่อนจะตัดสินใจลงทุนใหม่ ๆ
ด้านนายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศขณะนี้ โดยยอมรับว่าแม้จะเกิดภาวะอุปทานล้น (Over Supply) แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่มากขึ้นนั้นมาจากความต้องการที่แท้จริง (Real Demand) ของประชาชนในยุคสมัยใหม่ที่ต่างต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองกันมากขึ้น และการขยับขยายเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมากขึ้น