นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินจากการเวนคืน เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมว่า ได้มีการกำหนดขอบเขตเบื้องต้นเร่งด่วนใน 4 โครงการ คือ โครงการความร่วมมือพัฒนาระบบขนส่งทางรางระหว่างไทยกับจีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา, โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน และโครงการภายใต้ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ในความร่วมมือด้านระบบราง เส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เพื่อดูว่าในแต่ละเส้นทางการจัดระบบที่ดินและการก่อสร้างจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างไร
ทั้งนี้ได้ให้แนวทางไว้ เช่น โครงการรถไฟไทยจีน กรุงเทพ-นครราชสีมา ควรมีจำนวนสถานเท่าใด, สถานีควรตั้งอยู่จุดใด, การใช้ประโยชน์ของพื้นที่สถานีอย่างไรบ้าง และพื้นที่ระหว่างสถานีมีจุดใดบ้างที่สามารถพัฒนาได้ โดยให้พัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขัน เพราะหลักเกณฑ์จะเป็นฐานในการให้เอกชนคำนวณตัวเลขที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาได้
"ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน กรุงเทพ-นครราชสีมา หลักการให้จีนทำเส้นทาง โดยไทยลงทุนเองนั้น ส่วนที่ไทยลงทุนจะหาผู้มาร่วมลงทุนที่เป็นสัญชาติไทย ซึ่งจะเข้าแนวคิดที่บอกไว้ ดังนั้นที่เกรงว่าลงทุนแล้วไม่คุ้ม ได้ผลตอบแทนน้อยก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการพัฒนารูปแบบนี้จะมีกำไรแน่นอน ซึ่งรัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขันกัน โดยภาครัฐจะเป็นผู้กำกับและร่วมลงทุน ซึ่งในแต่ละเส้นทางจะเปิดให้เอกชนไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน แต่ช่วงแรกจะเชิญชวนเอกชนไทยก่อนส่วนต่างประเทศหากสนใจก็สามารถมาร่วมได้" นายสมคิดกล่าว
พร้อมระบุว่า ได้กำชับให้กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำรายละเอียดโครงการศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อชักจูงในเอกชนเข้ามาร่วมประมูลเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในสัปดาห์หน้าจะมาติดตามความคืบหน้าที่ได้มอบหมายไว้อีกครั้ง สำหรับการจัดทำรายละเอียดได้ให้เวลา 1 เดือน ในการเสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งผังเมืองจะมีความชัดเจนขึ้นว่าจุดไหนที่สามารถดำเนินการอย่างไร ในส่วนของกฎหมายเวนคืนที่ดินนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องจุดไหนที่มีปัญหาด้านกฎหมายจะต้องระบุออกมาเพื่อแก้ไขก่อน โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีการทางกฎหมายเพื่อทำให้เรื่องดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปกติที่ดินที่เวนคืนมาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 หน่วยงานเวนคืนใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน จะนำไปใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้ ถ้าติดขัดจุดนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต้องไปหารือกันว่าจะแก้ไขอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงคมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าโครงการต่างๆ ตามที่รัฐบาลเร่งรัดไว้ เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ซึ่งได้ดำเนินการไปตามแผน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเปิดขายซองประกวดราคา หลังจากนั้นภายในระยะเวลา 3 เดือนจะเปิดยื่นแข่งขันราคา และได้หารือเส้นทางอื่นที่จะมีการผลักดันให้ดำเนินการตามแผน เส้นทางที่ไปสู่ชนบทที่สำคัญ เช่น รถไฟทางคู่ ให้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้า และในสัปดาห์หน้าจะเข้ามาติดตามความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการตามนโยบายที่นายสมคิด มอบหมายไว้ โดยจะให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่ติดขัดและนำเสนอเพื่อขอแก้ไขต่อไป ซึ่งหากเรื่องใดที่ใช้เวลานานในการแก้ไขกฎหมาย อาจจะ จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อใช้ มาตรา 44 มาช่วย เพื่อให้เวลาในเรื่องกฎหมายสอดคล้องกับงานโครงการที่จะต้องเริ่มดำเนินการไปได้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีหลายฉบับ และคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยดูอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ในอนาคตสำหรับการดำเนินโครงการต่อไป หากจะมีการเวนคืนพื้นที่จะต้องประกาศเป็นเขตพัฒนา ซึ่งสามารถดำเนินการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เพราะสถานีรถไฟอย่างเดียวจะไม่ได้ประโยชน์ แต่หากพัฒนาจะสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีอีกวิธีคือใช้กฎหมายหลายฉบับควบคู่กันไป เช่น ใช้กฎหมายผังเมือง ซึ่งเป็นประกาศพื้นที่ควบคุม พื้นที่ห้ามก่อสร้าง เป็นการจัดรูปที่ดิน เพื่อให้เมืองสวยงาม มีประสิทธิภาพ เกิดย่านพาณิชยกรรม ซึ่งอาจเป็นการใช้กฎหมาย 2 ฉบับคู่กันไป
ส่วนกรณีที่ผู้อยู่รอบสถานีมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะมีการเก็บภาษีมากขึ้นหรือไม่นั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังจะไปพิจารณาแนวทางของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายเรื่องภาษีการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว จะต้องคิดถึงมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการมีโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
"ในการทำโครงการจะมองในแง่ประโยชน์รวม เศรษฐกิจรวม กรณีที่มีมูลค่าเพิ่ม รายได้เพิ่มจากพัฒนาพื้นที่ จะต้องพิจารณาก่อนว่าจะสามารถนำมาช่วยอุดหนุนค่าโดยสารได้อย่างไร ซึ่งมีแนวคิดในส่วนของผู้ด้อยโอกาสหรือประชาชนทั่วไปที่อาจจะได้รับการสิทธิในการใช้รถไฟฟ้าในเขตเมือง ในราคาพิเศษ โดยกำหนดเป็นช่วงเวลาในการเดินทางนอกเวลาเร่งด่วน" นายอาคม ระบุ