นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการกลยุทธ์และแผน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยว่า รฟม.ก็มีความพร้อมที่จะนำพื้นที่ของ รฟม.มาเปิดกว้างให้เอกชนร่วมทุน (PPP) ในการพัฒนา โดยส่วนแรกที่พบว่ามีศักยภาพสูงคือพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depo) และอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสถานีคลองบางไผ่ สถานีห้วยขวาง รวมไปถึงพื้นที่ Depo พระราม 9 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี และตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายดังกล่าวหากมีพื้นที่เหลือจากการพัฒนารถไฟฟ้าแล้วก็ถือเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย แต่ทั้งนี้ รอกฎหมายเปิดให้นำพื้นที่เวนคืนมาพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ได้
“หากมีการเปิด PPP เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เงินในส่วนดังกล่าว รฟม.ก็จะนำมาพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในระยะต่อไปที่ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการวางแผน โดยจะเน้นหลักวางโครงข่ายตัดจุดแนวเส้นทางเดิมเพื่อให้เกิดทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น รวมทั้งก็จะขยายแนวเส้นทางเดินรถจากแนวเดิมออกไปสู่พื้นที่ชานเมือง"นายธีรพันธ์ กล่าว
ด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่นอกเหนือจากการเดินรถ โดยในส่วนของความคืบหน้าแผนงานพัฒนาพื้นที่ศูนย์กลางพหลโยธิน ซึ่ง ร.ฟ.ท.รับผิดชอบ 3 โซน ประกอบไปด้วย โซนเอ โซนบี และโซนดี ปัจจุบันได้ส่งรายงานผลการศึกษาในพื้นที่โซนเอให้กับกระทรวงคมนาคมแล้ว และขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอให้กับคณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบ แต่ในภาพรวมก็พบว่าเอกชนต้องการจะเห็นภาพของการพัฒนาในแปลงใหญ่เพื่อพิจารณาร่วมลงทุน ซึ่ง ร.ฟ.ท.คาดว่าจะดำเนินให้แล้วเสร็จเร็วนี้