คลัง พร้อมหนุน FinTech ชี้ไทยมีข้อได้เปรียบหลายประเทศ ให้ธปท.-ก.ล.ต.ดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 21, 2016 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวในการเปิดงาน "CaF I : Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem" ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ CaF I : Positioning Thailand’s FinTech Ecosystem หรือแผนการกำหนดทิศทางและบริบทอุตสาหกรรม FinTech ในประเทศไทย ที่ล่าสุดภาคเอกชนกว่า 50 บริษัท ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งชมรม FinTech แห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี โดยในส่วนนี้ภาครัฐเองพร้อมจะเข้าไปให้การดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจด้วย

โดยมองว่าประเทศไทยเองมีข้อได้เปรียบหลายๆ ประเทศ แม้จะมีการเริ่มดำเนินการเรื่อง FinTech ช้ากว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่เชื่อว่าไทยจะสามารถพัฒนาเรื่องนี้ให้ทัดเทียมกันได้ จากข้อได้เปรียบเรื่องขนาดตลาดที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ขนาดเศรษฐกิจที่ยังเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดี มีปริมาณการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีบุคคลากรที่มีความพร้อมในการจะพัฒนาให้ FinTech ก้าวต่อไปได้ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงการคลังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

"ที่ผ่านมา ในต่างประเทศมีทั้งกรณีที่ FinTech สร้างประโยชน์ และกรณีที่ล้มเหลว เช่น กรณีการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก แต่ในส่วนนี้หากใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและเอกชน รวมทั้งยังเป็นการสร้างช่องทางใหม่ๆ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกด้วย รวมถึงในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการหรือนักลงทุนมาลงทุนกับ FinTech ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเสี่ยงในอัตราที่เหมาะสม" รมช.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า ในส่วนนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแล โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องดูแล FinTech ที่มีการดำเนินงานในลักษณะของการกู้ยืมแบบรายต่อราย (P2P lending) ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะดูแลในส่วนของการระดมทุนหรือร่วมทุนจากมวลชน (Crowd Funding) ซึ่งมีขนาดระดมทุนที่ไม่ใหญ่เกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและดูแลได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ