นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงทดลองเรื่องเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) หรือ FinTech โดยที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้เริ่มมีการปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นการดูแลต้นทุน สะท้อนให้เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีสถาบันการเงินยื่นขอปิดสาขาให้บริการมากกว่ายื่นขอเปิดสาขา อันเป็นผลจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งกระบวนการปิดสาขาสถาบันการเงินก็ต้องมีกระบวนการดูแลลูกค้าไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย
ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินให้พร้อมรองรับกับ FinTech โดยเสนอพ.ร.บ.ประกอบการชำระเงิน ที่อุดช่องโหว่ของกฎหมายเดิมที่มีหลายฉบับ มีความลักลั่น ซึ่งคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆนี้ และมีการผลักดันกฎหมายการรู้จักตัวตนของลูกค้า เชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลของเครดิตบูโร พิจารณาความเสี่ยงของลูกค้า รวมทั้งแก้กฎหมายเพื่อผ่อนคลายสถาบันการเงิน สามารถลงทุนในลักษณะของการร่วมลงทุนกับธุรกิจ (เวนเจอร์แคปปิตอล) ที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคได้ และการกำหนดให้มีมาตรฐานกลางในการชำระเงิน เช่น คิวอาร์โค๊ด ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 นี้
ขณะเดียวกัน ธปท.กำลังศึกษากฎระเบียบและแนวทางการกำกับดูแล FinTech เหมือนที่ต่างประเทศดำเนินการ (Regulatory Sandbox) ว่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะจากการศึกษาเบื้องต้น กฎระเบียบดังกล่าวมีความยืดหยุ่นมากกว่ากฎระเบียบของไทย
ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีทั้งที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีบางประเทศที่เกิดความเสียหาย ดังนั้น ธปท. ต้องดูแล FinTech ไม่ให้เกิดปัญหาต่อระบบเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และต้องให้ประชาชนมีความเข้าใจ มีข้อมูลเพียงพอ และสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งผู้บริโภคจะต้องได้รับค่าชดเชยและดูแล หากบริการทางการเงินเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่ใช่จากผู้บริโภค