เว็บไซต์ราชกิจจานุบเกษา เผยแพร่ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 42/2559 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยมีคำสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และ คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และให้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตามที่กำหนดในคำสั่งนี้
ให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อหรือร่วมใช้กิจการรถไฟฟ้าตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2543 เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาของคณะกรรมการ สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและโครงการส่วนต่อขยาย โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการของประชาชน
ทั้งนี้ ให้รับฟังความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตตามข้อ ๙ประกอบด้วย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้เสนอหลักเกณฑ์พร้อมทั้งความเห็นของหน่วยงานดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รมว.คมนาคมพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหลักเกณฑ์
และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) และการกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้มีระยะเวลาการดำเนินการโครงการสิ้นสุดลงพร้อมกันหรือสอดคล้องกันให้คณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในส่วนของงานระบบรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและโครงการส่วนต่อขยาย โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่รมว.คมนาคมให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการรฟม.กำหนดหลักเกณฑ์
เมื่อคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว ให้เจรจาร่วมกันกับผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลให้ดำเนินการโครงการส่วนต่อขยาย และดำเนินการให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลกับผู้รับสัมปทานดังกล่าว เพื่อให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยให้ดำเนินการเจรจาและแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินการ รวมทั้งสาเหตุของการดำเนินการไม่แล้วเสร็จไปยังนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควรก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา และนายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติให้มีการขยายระยะเวลาออกไป หรือในกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการกำกับดูแลไม่สามารถหาข้อยุติได้ ให้ยุติการดำเนินการดังกล่าวและให้กระทรวงคมนาคมรายงานผลการดำเนินการไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีพิจารณารายงานแล้วมีมติเห็นควรให้ดำเนินโครงการต่อไป ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่แทนคณะกรรมการรฟม.โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและให้รับฟังความเห็นของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต ประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ หากยังดำเนินการไม่ได้ข้อยุติภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เสนอแนวทางอื่นในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ จากการจัดระบบการขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน แต่เนื่องจากการจัดระบบการขนส่งสาธารณะโดยรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(สายเฉลิมรัชมงคล) ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแคและช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ในปัจจุบันยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้า การพิจารณาคัดเลือกเอกชน และการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน(Through Operation) และแม้คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เร่งรัดให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อและร่วมใช้ระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้การเดินรถแล้วเสร็จโดยเร็วแต่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถดำเนินการร่วมกันให้เป็นผลสำเร็จได้ ซึ่งจะทำให้การเริ่มเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระมีความล่าช้าออกไปมาก ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก
รวมทั้งอาจมีผลกระทบไปถึงระบบความปลอดภัยในการใช้บริการ นอกเหนือไปจากนั้นรัฐยังต้องสูญเสียรายได้และมีภาระค่าใช้จ่ายตลอดจนมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลและรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการจัดระบบการขนส่งสาธารณะของประเทศ