นายกฯ ชี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 12 สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ หวังวางรากฐานปท.ขับเคลื่อนสู่ยุค 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2016 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ว่า แผนฯ ฉบับนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเดิม ๆ ที่ยังเกิดขึ้นจากแผนฯ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือจากคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และประชารัฐ โดยตั้งใจให้แผนฯ ฉบับนี้พัฒนาประเทศให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคาดว่าแผนฯ ดังกล่าวจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า คือ ในปี 2560-2564

สำหรับแผนฯ ฉบับที่ 12 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ดังนั้นจึงแยกออกมาเป็นแผนลักษณะขบวนรถ 6-6-4 ซึ่งประกอบด้วย 6 แรกคือ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ, ความมั่นคง, สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, สร้างความสามารถในการแข่งขัน, สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม และพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

ด้าน 6 ที่สอง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในภาครัฐ, ความมั่นคง, การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน, การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน, การสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพมนุษย์

ส่วน 4 ที่เหลือคือ การต่างประเทศ, ประเทศเพื่อนบ้าน, การพัฒนาภูมิภาคเมืองและพื้นที่พิเศษ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์

"แผนฯ นี้จะประกาศเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งได้กำหนดว่าจะต้องเดินหน้าประเทศอย่างไรบ้างในช่วง 5 ปี ผมยืนยันว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้มีการเดินหน้าให้ได้ก็จะเป็นขบวนรถแบบเดิมๆ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่จะดำเนินการถือเป็นการวางรากฐานของประเทศไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขจัดอุปสรรคที่ผ่านมาในทุกภาคส่วน เร่งสร้างสังคมที่มีศักยภาพ ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจัดทำแนวทางให้คนไทยในประเทศมีรายได้เพียงพอ ลดความเหลื่อมล้ำ วางแผนระยะยาว ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านแรกที่จะต้องมีในการทำแผนฯ คือ ด้านความมั่นคง แต่ไม่ใช่ความมั่นคงทางการทหาร หรือ ตำรวจ แต่ทุกอย่างในประเทศจะต้องมั่นคง เกิดความร่วมมือกับคนทุกคนในประเทศชาติ ส่วนที่สอง คือ ความมั่นคงในการแข่งขัน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี ด้านที่สาม คือ การเสริมสร้างศักยภาพคนและมนุษย์ ซึ่งทุกคนในชาติจะต้องร่วมมือกันให้เกิดความต่อเนื่อง

และด้านที่สี่ คือ การสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำกันในทุกด้าน แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ด้านที่ห้า คือ การปรับสมดุล ซึ่งแผนฯ ฉบับนี้จะต้องดำเนินการและวางกรอบอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอดไปยังแผนฯ ฉบับต่อไป ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งหากเดินตามแผนฯ นี้ได้เชื่อว่าประเทศจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะเดียวกันสังคมจะต้องไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่แตกแยก เราต้องเร่งสร้างคนไทยให้สามัคคี ทำให้ประเทศเกิดความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวทาง 4.0 ใช้หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ทุกคนรู้จักความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันทีดี มีการพัฒนาด้านบุคลากร สร้างคนดีมีคุณธรรม รัฐบาลและข้าราชการมีธรรมาภิบาล ประเทศจึงจะพัฒนา

ในส่วนของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี มีการเดินหน้ากองทุนร่วมลงทุน ที่เกิดจากการลงทุนธนาคารกรุงไทย เอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารออมสิน ธนาคารแห่งละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังเร่งดำเนินการ และที่ผ่านมามีในส่วนของมาตรการต่างๆที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือ

ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลพยายามเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะรถไฟสายสีต่างๆ รวมทั้งสิ้น 10 สายทาง กว่า 900 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้หลายเส้นทางอยู่ระหว่างการก่อสร้างดำเนินการ ขณะที่รถไฟทางคู่ระหว่างเมือง นครปฐม-หัวหิน คาดว่าจะสามารถเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือนกันยายนนี้ ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่ คาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 61-62 ขณะที่เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน และกรุงเทพ-ระยอง อยู่ระหว่างการเข้าพิจารณาของคณะกรรมการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP พิจารณาต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองยังคงเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด แต่ตนเองอยากได้คนดี คนที่มีธรรมาภิบาล และดูแลประชาชนทั้งประเทศเข้ามาบริหารประเทศ ไม่ใช่ดูแลเพียงบางกลุ่ม ซึ่งขณะนี้ยังมีบางคนที่อยู่ในต่างประเทศพยายามที่จะโจมตีรัฐบาล พร้อมย้อนถามผู้ร่วมงานว่าใครยอมให้คนนั้นกลับมาบ้าง แต่ตนเองไม่ยอมให้กลับมา หากไม่ยอมรับในกฏหมาย

"ทุกคนเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีที่สุด ผมก็เชื่อแต่ถ้าได้คนดีคน มีธรรมาภิบาล มันดีแน่นอน ถ้าดูทุกคนทั้ง 67 ล้านคน ไม่ใช่ดูเป็นกลุ่ม รัฐบาลผมดูทุกคน จะดีไม่ดีก็เป็นคนไทย แต่หลายคนก็ปฏิเสธเป็นคนไทย และยังอยู่ข้างนอกโจมตีรัฐบาลอยู่ทุกวันๆ แล้วจะกลับมาได้อย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศเข้ามาขอพบกับตนเองเพื่อทำการค้าขาย มาเพื่อขอรับนโยบายด้านเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีความพยายามที่จะขยายความขัดแย้งจนทำให้ประเทศเกิดความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าตามโรดแมพ และแม้ว่าจะมีความพยายามขยายความขัดแย้งแต่จากการรายงานตัวเลขของบีโอไอกลับมีคนสนใจเข้ามาลงทุนมากกว่าเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ