พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) และคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เดินทางมาเข้าพบ ว่า บรรดานักธุรกิจสหรัฐฯ ที่มาในวันนี้ต่างมีความเข้าใจในการทำงานของรัฐบาล พร้อมยืนยันที่จะร่วมมือกับไทยในการดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อไป ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลไทยให้ช่วยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อช่วยในการอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจระหว่างกัน
"เขาก็รับปากว่าเดินหน้ากับเรา ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ส่วนเรื่องการเมือง ก็ว่ากันไป" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคาดหวังว่า USABC จะเข้าใจถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศในทุกทาง และยืนยันว่าไทยยังคงมีศักยภาพที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้อีกมาก
โดยนายกรัฐมนตรีได้เล่าถึงสถานการณ์ในประเทศช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งมั่นปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ และเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ ด้วยการเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนภายในประเทศ โดยเน้นโครงการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายด้านร่วมกับภาคเอกชน เช่น โครงการขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการพัฒนาแหล่งพลังงานต่างๆ ทั้งนี้รัฐบาลยังได้พยายามเชื่อมโยงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าจากชุมชนไปยังระดับเมือง ประเทศ ภูมิภาค และสนับสนุน SMEs ในไทยซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
พร้อมกันนี้รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายการสร้างเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในอาเซียน และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายลดอุปสรรคการส่งออกเพื่อให้การค้าเกิดความคล่องตัว ตลอดจนลดขั้นตอนของกระบวนการด้านธุรกรรมการเงินและงานด้านเอกสารที่เกี่ยวข้อง และหาตลาดที่มีศักยภาพเพื่อขยายฐานการส่งออกให้ครอบคลุมถึงการค้าชายแดน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงให้มีความครอบคลุมมากที่สุด
สำหรับปัญหาการปราบปรามการทุจริตซึ่งถือว่าเป็นวาระสำคัญของชาติ และที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมถึงการปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ส่วนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ รวมถึงการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันในการทำงานอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในทุกด้าน ทั้งการปรับปรุงระเบียบการค้าเพื่อลดอุปสรรคทางกฎหมายและมาตรการทางการค้าการลงทุนของไทยให้เป็นสากล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมโยงทั้งในประเทศและกับภูมิภาคอาเซียน การปฏิรูปด้านการศึกษาเพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต
ด้าน USABC ได้แสดงความขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และแนวนโยบายเศรษฐกิจไทย และเข้าใจสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างดี และยินดีที่จะลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง USABC ยังเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกมาก และหวังจะขยายความร่วมมือกับภาครัฐในรูปแบบการเป็นหุ้นส่วน PPP ในสาขาต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ USABC ยังได้เสนอแนะแนวทางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบบางเรื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ แนวทางในการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง การเร่งก่อสร้างซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการปรับแก้หลักเกณฑ์การเสียภาษีที่เป็นธรรม เป็นต้น
USABC ถือเป็นองค์กรธุรกิจที่มีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำที่เข้ามาลงทุนหรือทำธุรกิจกับประเทศไทยและในอาเซียน มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และการเดินทางเยือนครั้งนี้ มีนักธุรกิจสหรัฐฯ และผู้บริหารของ USABC จำนวน 64 รายจาก 26 บริษัท ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน ยานยนต์ ก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ โลจิสติกส์ เป็นต้น อาทิ บริษัท AIG, Apple, Cigna, Chevron, Mead Johnson, ไมโครซอฟท์, FedEx, ฮาร์เล่ย์-เดวิสัน, eBay, ฟอร์ด และฟิลิปมอริส เป็นต้น