ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% ตามเดิม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) รอบที่ 5 ของปี 2559 วันที่ 26-27 ก.ค.59 เพื่อรอประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก หลังอังกฤษลงมติแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT)
เนื่องจากมองว่าแม้ขณะนี้ความกังวลต่อการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (BREXIT) จะเริ่มผ่อนคลายไประดับหนึ่ง หลังธนาคารกลางประเทศต่างๆ ได้มีการอัดฉีดสภาพคล่อง และส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ ยังคงถูกจับตาอย่างใกล้ชิด สอดคล้องกับท่าทีล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เพิ่งปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลง 0.1% ในปี 2559 และปี 2660 มาที่ 3.1% และ 3.4% ในปี 2559 และปี 2560 ตามลำดับ
"ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ UK และ EU จะสามารถหาข้อสรุปร่วมกัน และสามารถดูแลไม่ให้เกิดภาวะปั่นป่วนวุ่นวายครั้งใหญ่ในตลาดการเงินได้ อย่างไรก็ดี IMF ยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกจะมีความเสี่ยงในช่วงขาลงมากขึ้น หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะเป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้เฟดสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันได้อีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้นเพื่อใช้ในการประเมินจังหวะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากพิจารณาถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงาน รวมทั้งเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้นั้น ก็เป็นตัวสะท้อนว่ายังคงพอมีเหตุผลให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 1 ครั้งภายในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะหากช่วงใกล้ๆ การประชุม FOMC รอบเดือนธ.ค.นี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจากประเด็น BREXIT ยังคงไม่เพิ่มระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยในขณะนี้ตลาดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าปรับตัวสะท้อนโอกาสเกือบ 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ ขณะที่ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อการเลือกช่วงเวลาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อันจะเห็นได้จากการที่เฟดเคยปรับขึ้น (หรือปรับลด) อัตราดอกเบี้ยนโยบายตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเป็นช่วงที่สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีก็ตาม
สำหรับผลต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่เฟดเลื่อนระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป น่าจะช่วยให้สภาวะการเงินทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย อันเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ (รวมถึงไทย) ที่น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีปัจจัยผลักดันให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่ในระดับสูง ซึ่งสภาวะดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ต้องมีการเตรียมรับมือในอนาคต
นอกจากนี้ ผลในอีกด้านหนึ่งจากการที่เฟดยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย และต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ น่าจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำ และเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางหลายๆ แห่ง รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถที่จะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมได้ หากเศรษฐกิจในประเทศมีพัฒนาการไปในทิศทางที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
"การชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยในระยะสั้น พร้อมๆ กับเปิดช่องว่างให้ทางการไทยสามารถที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อเส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น อาจทำให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเต็มไปด้วยความผันผวนในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ