นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งเป็นมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิต เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มีเงื่อนไขคุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือครบกำหนดเวลาเหมือนการทำประกันชีวิต แต่ที่ผ่านมาเงินฝากประเภทนี้ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
"ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันการทำประกันชีวิต โดยสามารถนำเงินฝากสงเคราะห์ชีวิตที่มีอายุเกิน 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท" นายณัฐพร กล่าว
ทั้งนี้ สามารถนำยอดเงินฝากดังกล่าวไปรวมกับเบี้ยประกันชีวิตเพื่อขอลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกินปีละ 1 แสนบาท โดยเริ่มตั้งแต่ปีภาษี 59 เป็นต้นไป
"ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้" นายณัฐพร กล่าว
กระทรวงการคลังชี้แจงว่า ตามที่ ธ.ก.ส.ให้ความเห็นว่าการฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัว มิใช่เป็นการรับฝากเงินโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นการรับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิต โดยมีข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินทุนสงเคราะห์หรือเงินครบกำหนดสัญญา โดยอาศัยการมรณกรรมหรือการมีชีวิตของผู้ฝากเงินสงเคราะห์เพื่อให้ความคุ้มครองชีวิตหรือการออมทรัพย์อันเนื่องมาจากการมรณกรรม หรือการมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดอายุของสัญญาตามสิทธิประโยชน์และระยะเวลาของสงเคราะห์ชีวิต โดยแบ่งประเภทของผู้ฝากเงินสงเคราะห์ เป็นประเภทรายบุคคล และกลุ่มบุคคล จึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับการประกันชีวิต คือ ผลิตภัณฑ์คุ้มครองชีวิตและออมทรัพย์ประเภทออมทรัพย์ระยะเวลาคุ้มครอง 12 ปี ระยะเวลาส่งเงินฝาก 10 ปี ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตจากเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ เมื่อครบกำหนดมีเงินคืนพร้อมเงินสมนาคุณ 8 เท่าของจำนวนเงินที่ส่งฝากรายเดือน โดยสามารถเลือกส่งเงินออมเป็นรายเดือนๆ ละ 300 – 1,000 บาท ขณะนี้มียอดรับฝากประมาณ 270,500 กรมธรรม์
ผู้จ่ายเบี้ยประกันภัยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้หักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันภัยที่มีผู้ได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันกับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ว่าการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (61) ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนข้างต้นแล้วเป็นจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท
การฝากเงินกับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะบางกรณีที่มีข้อตกลงว่าธนาคารจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ตามข้อตกลงโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝากเงินโดยการฝากเงินมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป สมควรได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับการประกันชีวิต ดังนั้น เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในลักษณะเดียวกันกับการประกันชีวิต จึงสมควรยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเป็นเงินฝากไว้กับธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะที่มีข้อตกลงดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการฝากเงินดังกล่าว
มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและครอบครัวมีการออม เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองชีวิต อันจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีให้แก่เกษตรกรและครอบครัว และช่วยให้ธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะสามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ในการรับฝากเงินเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวของเกษตรกรเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลต่อรายได้ภาษีแต่เป็นจำนวนเพียงเล้กน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย