นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท ระยะทางรวม 25.9 กิโลเมตร
"โครงการนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรให้กับผู้ที่จะเดินทางจากชานเมืองเข้ากรุงเทพมหานคร อีกทั้งช่วยลดปัญหาจุดตัดของรางรถไฟกับถนนรวม 20 จุด" นายกอบศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า โครงการรถไฟชานเมืองดังกล่าว จะมีการก่อสร้างทั้งทางยกระดับเหนือดิน ทางระดับดิน และทางใต้ดิน โดยคาดว่าจะประกวดราคาได้ในปลายเดือน ส.ค.59 เริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือน ก.พ.60 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลายปี 62 และเปิดให้บริการได้ในปี 63
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ในวันนี้ ที่ประชุมครม.อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้า ใช้เวลา 24 เดือน หรือไม่เกิน 2 ปี โดยงานโยธา แบ่งเป็น ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-มักกะสัน วงเงิน 15,608 ล้านบาท และช่วงมักกะสัน-หัวหมาก วงเงิน 6,998 ล้านบาท ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณและรถไฟฟ้า วงเงิน 17,300 ล้านบาท
นอกจากนั้นมีค่าเวนคืนที่ดิน 78.43 ตร.ว. บริเวณพญาไท และจ่ายเงินชดเชยกับผู้บุกรุกพื้นที่ให้ออกไปจำนวน 1,033 หลัง รวมเป็นวงเงิน 191 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน 2.7% ของวงเงินลงทุน และ ค่ารื้อย้ายและภาษี 6.9% โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 29.91% และ อัตราผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) 13%
ทั้งนี้ งานโยธามี 9 สถานี โดยเป็นสถานียกระดับ 4 สถานี คือ พญาไท , มักกะสัน ,รามคำแหง และ หัวหมาก เป็นสถานีใต้ดิน 3 สถานี คือ สามเสน,ราชเทวี และยมราช และระดับดิน คือ ยศเส และหัวลำโพง
“เส้นทางนี้จะเชื่อมต่อระหว่างเส้นที่ทำเสร็จแล้ว คือ บางซื่อ-ตลิ่งชัน และที่กำลังทำอยู่ คือบางซื่อ –รังสิต... ข้อดีเส้นนี้ จะไม่มีจุดตัดผ่านของรถไฟ 13 จุดจะยกเลิกไป คือ ถนนประดิพัทธ์, เศรษฐสิริ , ระนอง , นครชัยศรี, ราชวิถี, ศรีอยุธยา,ยมราช, พรราม 6 , พญาไท ,ราชปรารภ,อโศก,รามคำแหง และ ศรีนครินทร์ “
สำหรับงานเดินรถของรถไฟชานเมืองสายสีแดง รมช.คมนาคม กล่าวว่า จะให้เอกชนมาจัดการบริหารงานเดินรถ แต่ รฟท.ต้องการเป็นผู้เดินรถเอง เพราะเส้นทางนี้ภาครัฐได้ลงทุนไปหมดแล้ว และ รฟท.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกงานเดินรถกับเอกชนที่ได้งานสัญญาที่ 3(งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า) ของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมที่จะให้รฟท.ดำเนินการเดินรถเอง
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ คนร. มาพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการและประโยชน์ที่จะได้รับของ รฟท. เพราะเห็นว่าหากรฟท.ไม่มีการจัดการบริหารที่ดีจะทำให้การบริหารขาดทุนได้ จึงได้ให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาช่วยพิจารณาหากเห็นด้วยกับการบริหารจัดการเดินรถที่รฟท.นำเสนอก็ให้นำเสนอมายังคณะอนุกรรมการคนร. ก่อนที่จะนำส่งให้คณะกรรมการ คนร.พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้ ทางรฟท.จะนำเสนอมายังกระทรวงคมนาคม
“ที่เขาเป็นห่วงเรื่องสมมติฐานจำนวนผู้โดยสาร (Ridership) ว่ามากไปไหม และก็เรื่องอัตราค่าโดยสาร และจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี"นายออมสิน กล่าว