สาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) จำนวน 48,242 ล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 11,874 ล้านบาท หรือ 13.1% และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีเบียร์สูงกว่าประมาณการ 7,616 6,091 และ 5,755 ล้านบาท หรือ 3.1% 8.7% และ 9.3% ตามลำดับ
สำหรับในเดือนมิ.ย. 59 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 236,080 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,275 ล้านบาท หรือ 7.4% (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8.1%) โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการจำนวน 9,108 ล้านบาท หรือ 114.0% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 25.0%) เนื่องจากมีการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลงวดที่ 3 จำนวน 6,061 ล้านบาท เป็นสำคัญ
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าประมาณการ 6,669 ล้านบาท หรือ 6.9% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 5.9%) และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 1,648 ล้านบาท หรือ 21.5% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 44.5%)
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,545 ล้านบาท หรือ 5.3% (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6.0%) เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าประมาณการ 3,530 ล้านบาท หรือ 12.7% (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2.4%) อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับประมาณการ และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8.3% สะท้อนถึงการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี
“การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศเดือนมิถุนายน 2559 สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 8.3% และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 จัดเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.2% สะท้อนถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 7.1% สะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา"นายกฤษฎา กล่าว