ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง H2/59 ผู้ประกอบการอสังหาฯ ชะลอเปิดขายโครงใหม่ หลังดีมานด์ลด-แข่งขันดุ-แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 29, 2016 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 59 ผู้ประกอบการมีแนวโน้มชะลอการเปิดขายที่อยู่อาศัยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการขายที่อยู่อาศัยคงค้างรอขายเซ็กเมนต์ต่างๆ ด้วยการทำการตลาดสอดคล้องกับมาตรการภาครัฐที่ยังคงเหลือ ทั้งการกระตุ้นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยให้ซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก่อนสิ้นปี เพื่อนำวงเงินมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการเร่งระบายที่อยู่อาศัยคงค้างรอขายราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทภายใต้โครงการบ้านประชารัฐ

"ในภาวะผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอเปิดขายที่อยู่อาศัยใหม่ และกระตุ้นการขายที่อยู่อาศัยคงค้างรอขาย น่าจะส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างรอขายลดลง และตลาดที่อยู่อาศัยปรับตัวสู่สมดุลมากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างรอขายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ณ สิ้นปี 2559 น่าจะมีประมาณ 150,000-160,000 หน่วย ลดลงร้อยละ 4-10 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2558 ที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างรอขาย 167,257 หน่วย แบ่งเป็น บ้านเดี่ยวจำนวน 42,000-44,000 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์จำนวน 40,000-42,000 หน่วย และคอนโดมิเนียมจำนวน 68,000-74,000 หน่วย

สำหรับมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และจดทะเบียนการจำนองที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาช่วยหนุนให้สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยฟื้นตัวในระยะสั้น โดยคาดว่า จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในส่วนของการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 น่าจะมีประมาณ 64,700 หน่วย เติบโตร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์รวม 46,633 หน่วย ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2557

สถานการณ์ในปัจจุบันสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่ยังมีการเข้าสู่ตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทุนรายใหญ่ต่างๆ ยิ่งส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นไปอย่างรุนแรงขึ้น ที่นำมาซึ่งความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจับตาแนวโน้มและปรับกลยุทธ์รับมือต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มีแนวโน้มมุ่งพัฒนาโครงการแนวราบเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะคอนโดมิเนียมล้นตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบระดับบนที่เป็นตลาดเป้าหมายที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ให้ความสำคัญในภาวะที่คนไทยถูกปฏิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

"แม้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจะเผชิญแรงกดดันน้อยกว่าโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากสามารถพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแบ่งขายเป็นเฟสได้ และยังเป็นตลาดซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่อาศัยจริง แต่ก็เผชิญข้อจำกัดด้านกฎหมายผังเมือง รวมถึงราคาที่ดินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่สูงขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ส่วนผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็กกลุ่มที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลางลงมาต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะคนไทยมีแนวโน้มถูกปฏิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็กมีข้อจำกัดในการกระจายการลงทุนไปยังโครงการที่อยู่อาศัยเซ็กเมนต์อื่นๆ ต่างจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สามารถกระจายการลงทุนไปยังโครงการที่อยู่อาศัยเซ็กเมนต์อื่นๆ และธุรกิจอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มุ่งขยายธุรกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล ยังไม่ขยายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็กที่ส่วนใหญ่กระจายตัวประกอบธุรกิจในต่างจังหวัดยังไม่เผชิญการแข่งขันที่รุนแรง

"ในระยะถัดไปผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายกลางและเล็กมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ชายแดน นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ที่พบว่าที่ดินที่ส่วนใหญ่ถูกจับจองโดยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ แล้ว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องเร่งทำการตลาดกระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัยด้วยการนำเสนอโปรโมชั่นทางด้านอัตราดอกเบี้ย โดยอาศัยจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่เป็นแรงหนุนตลาดที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป รวมถึงยังต้องพิจารณาความต้องการและข้อจำกัดของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ลึกยิ่งขึ้น เพื่อนำมาสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างตอบโจทย์ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก่อตั้งธุรกิจเป็นของตนเองซึ่งต้องการที่อยู่อาศัยในรูปแบบโฮมออฟฟิศ กลุ่มครอบครัวที่อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุซึ่งต้องการที่อยู่อาศัยที่มีการออกแบบและฟังก์ชั่นเอื้อต่อผู้สูงอายุ รวมถึงมีบริการเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุในโครงการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปยังต้องจับตาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 และก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยเร่งให้ประชาชนผู้ถือครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าขายที่ดินให้กับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีที่ดินหมุนเวียนซื้อขายเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคตมากขึ้น รวมถึงยังเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีที่ดินรอการพัฒนาที่อยู่อาศัย เลือกพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เร็วขึ้นอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ