นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา "e-Payment ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย"ว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกมาตรการจูงใจเพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบ e-Payment มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของร้านค้าขนาดเล็ก โดยกรมสรรพากรกำลังพิจารณาการให้สิทธิทางภาษี โดยเฉพาะภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับร้านค้าขนาดเล็กที่เข้าโครงการ โดยลดเหลือ 2% จากปกติอยู่ที่ 3-5% เป็นต้น
ทั้งนี้ หากต้องการให้ประเทศไทยก้าวผ่านประเทศที่ติดกับรายได้ปานกลาง ต้องเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนปรับประสิทธิภาพของประเทศที่สำคัญ โดย e-Payment จะเป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินของประเทศ หากทำได้ไทยจะเป็นประเทศแรกที่สามารถก้าวข้ามประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางการเงิน
"e-Payment คือโครงการที่รัฐบาลอยากเห็นมากที่สุด เริ่มจากประชาชนจะต้องสามารถใช้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ ใช้ที่ไหนก็ได้ ปัจจุบันมีคนใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นคนรายได้ปานกลางและสูง แต่ต้องทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะใช้เลขบัตรประชาชน หรือ เบอร์โทรศัพท์มือถือทำให้ประชาชนมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยที่ไม่ต้องบัญชี โดยรัฐบาลมีเวลาในการผลักดัน e-Payment ให้แล้วเสร็จอีก 1 ปี หลังจากดำเนินการมาแล้วครึ่งปี" นายอภิศักดิ์ กล่าว
การใช้ e-Payment ทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลงจากการบริหารเงินสด ตั้งแต่การเบิกธนบัตรจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปไว้ที่ธนาคาร สาขา หรือ ตู้เอทีเอ็ม มีการประมาณการณ์ว่าจะประหยัดเงินได้ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยมองว่า e-Payment ที่รัฐบาลวางจะเป็นเหมือนถนนที่รัฐบาลทำให้ ที่ทุกคนสามารถเดินได้ จากเดิมที่ธนาคารเล็กทำถนนไม่ได้เพราะลงทุนไม่ไหว ต่อไปธนาคารต้องแข่งผลิตภัณฑ์ว่าของใครจะดีกว่า เมื่อทำอย่างนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารที่มีเครือข่ายน้อยเข้าสู่ตลาด รวมถึงนอนแบงก์สามารถเข้าสู่ถนนเส้นนี้ได้เหมือนกัน เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์
นอกจากนี้ e-Payment ยังทำให้ประเทศได้ประโยชน์ มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ประหยัดต้นทุนประหยัดเงิน ธปท. พิมพ์เงินสดลดลง กระทรวงการคลังมาทำผลิตเหรียญกษาปณ์ลดลง ขณะเดียวกันช่วยลดการรั่วไหลของภาษี การคอร์รัปชั่น
สำหรับความคืบหน้าการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการ ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 1.58 ล้านราย โดยในส่วนนี้รัฐบาลจะกลับไปพิจารณาถึงแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้อย่างตรงตามความต้องการ ซึ่งจะต้องกลับไปดูว่าประชาชนมีความต้องการอะไรบ้าง และกำลังประสบปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อให้มีการออกมาตรการออกมาในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มาลงทะเบียนได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
เบื้องต้นอาจจะมีการพิจารณามาตรการในการให้ความช่วยเหลือเก่าที่เคยได้ดำเนินการมาแล้ว อาทิ การช่วยเหลือโดยการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้ครึ่งราคาของราคาที่ใช้จริง การชดเชยราคาก๊าซหุงต้มให้กับประชาชนที่มาลงทะเบียนในราคาที่ต่ำกว่าราคาทั่วไป ซึ่งในส่วนนี้จะไม่รวมกับสวัสดิการเดิมที่ผู้มาลงทะเบียนเคยได้รับ เช่น ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพจำนวน 600 บาทต่อเดือนก็จะยังได้รับสิทธิตามเดิมอยู่ โดยคาดว่ามาตรการเกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนดังกล่าวจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า
สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหรือลงทะเบียนไม่ทันในวันที่ 15 ส.ค.นี้ รัฐบาลจะไม่ตัดสิทธิ์ในการได้รับสวัสดิการต่างๆ เพราะรัฐบาลจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนก.ย.ของปีถัดไป แต่หากต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพโดยเร็ว ก็ควรมาลงทะเบียนภายในเวลาที่กำหนดในปีนี้