(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือนก.ค.59 ขยายตัว 0.10% , Core CPI ขยายตัว 0.76%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2016 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 106.68 ขยายตัว 0.10% เมื่อเทียบกับ ก.ค.58 แต่หดตัว -0.35% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ CPI ช่วง 7 เดือนแรกปี 59 หดตัว -0.07%

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนก.ค.59 เมื่อเทียบกับเดือนก.ค.58 สูงขึ้น 0.10% (YoY) จาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.65% ปัจจัยสำคัญมาจาก ผลไม้สด อาทิ ทุเรียน กล้วยน้ำว้า มะม่วง, ปลาและสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งขาว หอยแครง ปลาหมึก,ไข่ไก่, เนื้อสุกร (ผลกระทบ 0.17%, 0.08%, 0.06%, และ 0.05%ตามลำดับ)

2) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ จากผลสะสมของปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือนก.พ.59 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 0.17%

3) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล จากค่าบริการส่วนบุคคลเพื่อความสวยงาม อาทิ ค่าแต่งผมชาย ค่าแต่งผมสตรี (ผลกระทบ 0.02%), ค่ารักษาพยาบาลคนไข้นอก (ผลกระทบ 0.01%)

4) หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา อาทิ ค่าธรรมเนียมประถมศึกษาและอุดมศึกษาภาคเอกชน (ผลกระทบ 0.02%)

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศในหมวด หมวดพาหนะ การขนส่ง และ การสื่อสาร ยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและผลจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2559 ในหมวดเคหสถาน ยังคงฉุดรั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ และส่งผลกระทบทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อ -0.47% และ -0.34% ตามลำดับ

เมื่อเทียบเดือนมิ.ย.59 อัตราเงินเฟ้อลดลงเท่ากับ -0.35% (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ผลกระทบ -0.2%) อาทิ ผักสด (พริกสด มะนาว คะน้า ผักกาดหอม และต้มหอม) และเนื้อสุกร 2) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร (ผลกระทบ -0.16%) อาทิ แก๊สโซฮอล์91 และ 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 106.73 ขยายตัว 0.76% เมื่อเทียบกับ ก.ค.58 และขยายตัว 0.06% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 7 เดือนแรกปี 59 ขยายตัว 0.73%

ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 116.50 เพิ่มขึ้น 1.83% เทียบกับเดือน ก.ค.58 แต่หดตัว -0.54% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.48 หดตัว -0.84% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.58 และหดตัว -0.24% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เงินเฟ้อในเดือนก.ค.ที่เพิ่มขึ้น 0.10% เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารสด และบุหรี่

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวสู่กรอบคาดการณ์ของปี 2559 ที่ 0-1.0% ในช่วงครึ่งปีหลัง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับในช่วงที่เหลือของปีคาดว่า อัตราเงินเฟ้อคงจะไม่ติดลบ หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากระดับนี้แล้ว ยกเว้นว่าจะมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจจะปรับลดลงได้อีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะกลับขึ้นไปเป็นบวกได้ในช่วงปลายปี เนื่องจากขณะนี้ปัจจัยอื่นๆ ถือว่าค่อนข้างนิ่งแล้ว และหากสามารถส่งออกได้ดี ก็จะทำให้ราคาสินค้ามีโอกาสขยับขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นได้

"เงินเฟ้อคงไม่เปลี่ยนแปลงมากแล้ว แต่ที่ห่วงคือ ราคาเชื้อเพลิงที่ทำท่าว่าจะลดลงอีกนิดหน่อยถ้าเทียบกับปีก่อน แต่เชื่อว่าจะดึงมาเป็นบวกได้ช่วงปลายปี คงเกิน 0 ไปเล็กน้อย" นายสมเกียรติ กล่าว

พร้อมคาดว่า ในช่วงไตรมาส 3/59 อัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.47% โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 ใหม่อีกครั้งในช่วงการแถลงเงินเฟ้อของเดือน ส.ค.

"เดือนหน้าจะมีการทบทวนตัวเลขเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่ แต่เชื่อว่าคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก" นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟัอสำหรับปี 2559 ไว้ที่ระดับ 0-1% โดยมาจากสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ที่ 3.3% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 30-40 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 36-38 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ