นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 19 ในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้มีกลไกที่จะเข้าไปดูแลเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในระบบสถาบันการเงิน โดยล่าสุด ธปท.มีข้อสรุปที่จะให้ใช้กลไกของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เข้ามาทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมองว่ากองทุนฟื้นฟูฯ มีข้อกฎหมายเป็นกรอบวิธีการทำงานอยู่แล้ว อีกทั้งยังเคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินในปี 2540 มาก่อน
"กองทุนฟื้นฟูฯ มีประสบการณ์มานาน เป็นส่วนงานหนึ่งใน ธปท. แม้จะเป็นนิติบุคคลที่แยกไปต่างหาก เรามีองค์ความรู้ที่ได้สะสมมาต่อเนื่อง ถ้าย้อนไปดูกลไกการแก้ปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ ในปี 40 ที่เคยคำนวณความเสียหายของวิกฤตการเงินในปี 40 ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เราคาดการณ์ว่าผลตอบแทนที่จะได้อยู่ที่ราว 40% แต่ขณะนี้จะเห็นว่าสิ่งที่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ทำ ทั้งการเข้าไปถือหุ้นในสถาบันการเงิน การมีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ของตัวเอง ทำให้ได้ผลตอบแทนคืนมาที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายในประเด็นดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาในระบบสถาบันการเงินแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการเตรียมการสำหรับอนาคต เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินของไทยพร้อมเข้าสู่การประเมินภายใต้โครงการประเมินภาคการเงิน (FSAP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2560
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เข้ามาเป็นกลไกในการแก้ปัญหาวิกฤติในระบบสถาบันการเงินครั้งนี้ จะดูบทเรียนที่เกิดขึ้นกับกรณีเกิดวิกฤติระบบสถาบันการเงินในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือจะมีเพิ่มขึ้นจากเดิม คือ ไม่ใช่การให้กู้ หรือเข้าไปซื้อหุ้นสถาบันการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะให้มีการตั้งสถาบันการเงินเข้ามาเพื่อแยกหนี้ดีหนี้เสีย นอกจากนี้ผู้ที่ถือหุ้นกู้ก็ควรจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
"ผู้ถือหุ้นกู้ควรจะต้องรับผิดชอบด้วยในเรื่องภาระการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน รวมไปถึงมีกลไก เช่น สถาบันการเงิน จะมีส่วนในการรับผิดชอบต้นทุนการใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตระบบสถาบันการเงิน ไม่ใช่เป็นภาระของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว นี่เป็นสาระสำคัญที่เราได้พิจารณากัน และควรเสนอให้มีการปิดช่องโหว่ตรงนี้ ทั้งหมดที่ทำไม่ใช่เพราะเราเห็นว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องวิกฤตระบบสถาบันการเงิน แต่เราอยากทำจิกซอว์ต่างๆ ให้ครบถ้วน ให้มีกลไกในการดูแลเมื่อเกิดปัญหา" นายวิรไท กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่ใช่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันระบบสถาบันการเงินของไทยยังมีความเข้มแข็ง แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการเตรียมการรองรับในอนาคตให้การดูแลแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงินเป็นไปตามมาตรฐานสากล
"ตอนนี้กฎหมายเหมือนมีช่องโหว่อยู่ แต่เรายังไม่ได้มีความจำเป็น ณ วันนี้ แต่เราจะทำให้ระบบให้ครบถ้วน มีกลไกที่ครบถ้วนมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยใหม่" นายวิรไท กล่าว
อนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา หลังจากที่มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว บทบาทหน้าที่ของ FIDF ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินจะเป็นไปตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดไว้ว่า ภายในระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากใช้บังคับ หากยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินใช้บังคับ
แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน อันอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และเป็นกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.นี้แล้ว ธปท.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินอาจเสนอแนะแผน แนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินนั้นต่อคณะกรรมการจัดการกองทุน โดยต้องแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการตามแผน แนวทาง และวิธีการดังกล่าวมีประสิทธิผลสูงสุดและเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อคณะกรรมการจัดการกองทุนพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ