(เพิ่มเติม) บอร์ด รฟม.มีมติให้จ้าง BEM เดินรถสถานีบางซื่อ-เตาปูนด้วยวิธีพิเศษระหว่างเจรจาส่วนต่อขยาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2016 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันนี้ได้มีมติจ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ด้วยวิธีพิเศษ โดยทำสัญญาชั่วคราวในการจ้างเดินรถและติดตั้งระบบรวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณ 1 สถานี ระหว่างสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ ระหว่างที่การเจรจาสัญญาเดินรถส่วนต่อขยายยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ กรอบวงเงินค่าติดตั้งระบบอยู่ที่ 693 ล้านบาท

"ต้องการให้เดินรถ 1 สถานีได้ก่อน หากรอการเจรจาก็คงล่าช้าออกไปอีก 2-3 เดือน โดยจากนี้จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาและเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป"นายพีระยุทธ กล่าว

ทั้งนี้ รฟม.คาดว่า BEM จะเริ่มเข้าทำงานในพื้นที่ได้ภายในเดือน ก.ย. 59 และจะเตรียมการแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.60 ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 6-7 เดือน จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลา 12-15 เดือนในการติดตั้งระบบและเดินรถ 1 สถานี

ส่วนการเจรจาตรงกับ BEM เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ตามที่ ม.44 ได้ให้คณะกรรมการรฟม.พิจารณานั้น ในวันนี้ คณะกรรมการ รฟม.มีมติเห็นชอบกรอบการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เท่ากับสัญญาการเดินรถสายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมลคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ

ทั้งนี้ มติของคณะกรรมการ รฟม.วันนี้จะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และจากนั้นจะให้คณะกรรมการมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เจรจากับ BEM ต่อไป โดยหากมีการเจรจาเรียบร้อยแล้ว ก็จะยกเลิกสัญญาชั่วคราวในเการเดินรถ 1 สถานีดังกล่าวมารวมกับสัญญาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

นายพีระยุทธ์ คาดว่าการเจรจางานเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ ตามคำสั่ง ม. 44 จะแล้วเสร็จและลงนามสัญญาได้ในเดือนธ.ค. 59

“รฟม.พยายามเร่งงาน เร็วที่สุด ไม่ใช่ว่ามีคำสั่งม.44 แล้วไม่เร่ง เพราะคำสั่งก็ชัดเจนว่าเจรจา BEM เดินรถส่วนต่อขยายดังนั้น ก็เร่ง 1 สถานีก่อน เพียงแต่ต้องเดินตามระเบียบข้อกฎหมาย โดยหลังจากเจรจาสัญญาหลักของสีน้ำเงินจบ ก็นำการติดตั้งระบบ 1 สถานีไปรวม และยกเลิกสัญญาชั่วคราวนี้ โดยจะต้องมีเงื่อนไขไว้ว่า หากการเจรจาสัญญาหลักล้มเหลว จึงจะจ่ายค่าติดตั้งระบบให้ทาง BEM “

สำหรับการเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้กำหนดเป็นกรอบกว้างๆ โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการในสายเฉลิมรัชมงคลเดิมด้วย ดังนั้น รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และส่วนต่อขยาย ต้องใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารเดียวกัน โดยให้คณะกรรมการมาตรา 43 ของสัญญาสายเฉลิมรัชมงคล และคณะกรรมการมาตรา 35 ของส่วนต่อขยาย พิจารณาความเหมาะสม รวมถึงกำหนดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวในการเดินสายสีน้ำเงินตลอดสาย

ส่วนการกำหนดให้เอกชนแบ่งผลประโยชน์จากค่าโดยสารอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานที่เอกชนได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม โดยต้องแสดงรายละเอียดภาระการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่คาดว่าจะได้รับอย่างครบถ้วนและชัดเจน

โดยตามคำสั่ง ม.44 นั้น คณะกรรมการร่วม (กรรมการ ม.43 และกรรมการ ม.35) จะมีเวลา 2 เดือน คือ เดือนแรกกำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียด กลยุทธ์ในการเจรจา ต้องทำข้อมูลไว้ก่อน เจรจา จากนั้นเดือนที่ 2 จะเจรจากับเอกชน ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกัน เจรจาค่าโดยสาร และการแบ่งผลประโยชน์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะรฟม.ได้ลงทุนงานโยธาไปแล้ว คาดหวังผลประโยชน์ที่จะได้กลับมาชดเชย ซึ่งคำสั่งม. 44 ให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย รฟม.ต้องได้รับประโยชน์คุ้มค่าลงทุน เอกชนก็ตะต้องได้ผลตอบแทนที่เหมาะกับที่ลงทุน

"จุดสมดุลจะขึ้นกับประมาณการผู้โดยสารที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีหลายปัจจัย เช่น โครงข่ายสมบูรณ์จะพร้อมเมื่อใด และอัตราค่าโดยสาร และในการเจรจารายละเอียด ต้องดูในหลักการ พันธะข้อสัญญาที่มีสัญญาเดิมหรือสายเฉลิมรัชมงคล เช่น เงื่อนไขแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งจะใช้หลักการเงื่อนไขเดิมหรืออย่างไร การเชื่อมต่อ ขบวนรถไฟฟ้าต่อขยายกับสายเฉลิมรัชมงคล รถต้องวิ่งร่วมกันได้ ระดับพื้นชานชลาต้องอยู่ระดับเดียวกัน จำเป็นเพราะการเดินรถต่อเนื่อง กรณีฉุกเฉินรถสายเดิมและสายใหม่ต้องวิ่งเชื่อมต่อ ทดแทนกันได้

หรือระบบจ่ายไฟฟ้า อุปกรณ์ อาณัติสัญญาณ ต้องเชื่อมโยงเดินรถร่วมกันได้ ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติในการให้บริการ จะมีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน เดินรถสภาวะปกติ กรณีมีเหตุฉุกเฉิรน การเดินรถในศูนย์ซ่อม แผนการซ่อมบำรุง ต้องสอดคล้องกัน การให้บริการที่สถานี การเดินรถ การปฎิบัติการในห้องควบคุมการเดินรถ ต้องประหยัดด้วย การจัดการกรณีที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตารางการเดินรถต้องสอดคล้องกัน การฝึกอบรม การฝึกซ้อม การจัดการต่างๆ การใช้ทรัพย์สินร่วมกัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทุกอย่างจะสะท้อนต้นทุน"ผู้ว่าการ รฟม. กล่าว

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ รฟม.กำหนดให้ รฟม.จะต้องเร่งรัดเดินรถ 1 สถานีระหว่างสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ เร็วที่สุด โดยที่ผ่านมา รฟม.มีรายงานศึกษา PPP บ้างแล้ว โดยกรณีอายุสัญญาของทั้ง 2 สายจะต้องสอดคล้องกันตามคำสั่ง ม.44 เช่น สัญญาสายสีน้ำเงินทั้งเดิมและส่วนต่อขยาย จะสิ้นสุดพร้อมกันที่ปี 72 (ตามอายุสัมปทานสายเฉลิมรัชมงคล) หรือสิ้นสุดปี 92 (คิดจากส่วนต่อขยายอายุ 30 ปีที่เริ่มเซ็นสัญญาปี 62-92) หรือ ระหว่างกลาง คือประมาณปี 82 โดยให้คณะกรรมการร่วม 2 ชุดนำไปพิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ