ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีส่งเสริม SMEs พี่ช่วยน้อง-การลงทุนในชนบท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2016 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท โดยมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมไทย ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้ชนบทได้รับการพัฒนา มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอรับงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกของท้องถิ่นในชนบทอย่างแท้จริง

สำหรับมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะช่วยในการส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับภาค SMEs รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการลงทุนในชนบทตามโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและสังคมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท

มาตรการพี่ช่วยน้องได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรเกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานเกิน 200 คน (บริษัทพี่) สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน (บริษัทน้อง) สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายเป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี คือ ตั้งแต่ ม.ค.59 จนถึง ธ.ค.61

ลักษณะของโครงการจะเป็นส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามมาตรการ ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ อาทิ การบริหารการตลาด การบัญชี, การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม, การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไร รวมถึงการส่งเสริมการตลาด, การจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องไม่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่มีอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินงาน และบริหารงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จ่ายไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการ และค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจจะต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการจะพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษ หรือสัมปทาน โทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้ำ หรือชลประทาน ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยและระบบจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นต้น ขณะที่หากเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ โบราณสถาน หรือแห่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในกำกับดูแลของส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐนั้น ให้สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่าย เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีเช่นเดียวกัน โดยการลงทุนทั้งหมดในส่วนนี้จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้กับส่วนราชการ โดยไม่มีค่าตอบแทน "การดำเนิน 2 มาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี แต่รัฐบาลไม่ได้มองว่าเป็นการสูญเสียรายได้ แต่มองว่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ก่อให้เกิดการจ้างงานและการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากกว่า และการดำเนินการในส่วนนี้ก็ถือเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนในการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ในชนบทด้วย ไปจนถึงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว"นายณัฐพร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ