พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในภาพรวม ณ สิ้นก.ค.59 มีความก้าวหน้าเท่ากับ 80.86%
ส่วนกำหนดการเปิดเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ วางแผนการเปิดเดินรถเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เปิดเดินรถสายใต้ ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ในเดือนก.พ. 62 และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ซึ่งจะเป็นการเปิดให้บริการทั้งโครการ ตลอดเส้นทางทุกสถานีในเดือน ต.ค. 62
พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า สำหรับการเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะเสร็จสิ้นในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาได้ โดยผู้รับสัมปทานมีเวลาสั่งซื้อรถไฟฟ้า 24-36 เดือน และจะเปิดบริการเดินรถทั้งสายในปี 62
โดยกรอบการเจรจาเรื่องค่าตั๋วโดยสารเป็นไปตามที่คณะกรรมการ ตามมาตรา 35 และคณะกรรมการ ตามมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ร่วมเจรจากับ BEM ที่ต้องให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด และผู้รับสัมปทานก็ได้รับความเป็นธรรม เบื้องต้นส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจะไม่เก็บค่าแรกเข้าซ้ำจากที่สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เสียค่าแรกเข้า 16 บาท/เที่ยว และเก็บตามระยะทาง สถานีละไม่เกิน 2 บาท แต่เส้นทางนี้เก็บสูงสุดที่ 42 บาท หรือคิดเป็น 12 สถานี จากทั้งหมดมี 18 สถานี ขณะที่เมื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้งเส้นจะมีจำนวนสถานีทั้งหมด 38 สถานี
"ตามแผนเราจะเจรจาจบสิ้นปีนี้หลังจากนั้นก็ลงนามกัน ประมาณปี 62 เดินรถได้ทั้งสาย โดยจะมีบางช่วงที่วิ่งได้ก่อน" ประธาน บอร์ดรฟม. กล่าว
ขณะที่วันนี้คณะผู้บริหารของ รฟม.ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่สถานีสนามไชย เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา งานสถาปัตยกรรมตกแต่งภายในสถานี ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ (งานสัญญาที่ 2) งานออกแบบควบคุมการก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ
พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า สำหรับสถานีสนามไชยที่ลงพื้นที่วันนี้ งานก่อสร้างทำได้เร็วกว่าแผนเกือบ 5% คาดว่าสิ้นปีนี้จะเสร็จสมบูรณ์ โดยสถานีสนามไชยมีการออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในที่โดดเด่นและสวยงาม โดยนายภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เป็นผู้ออกแบบสถานีสนามไชย โดยออกแบบภายในให้มีลักษณะคล้ายท้องพระโรง สมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแห่งซึ่งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ ทั้งนี้จะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสถานีสนามไชยได้ในปลายปีนี้
นอกจากนี้ ยังมีสถานีวัดมังกร สถานีวังบูรพา สถานีอิสรภาพ ที่จะมีการตกแต่งภายในสถานีอย่างสวยงามให้กลมกลืนกับสถาพแวดล้อมของสถานี โดยค่าตกแต่งภายในสถานีได้รวมไว้ในค่าก่อสร้างอยู่แล้ว
สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แบ่งเป็นสัญญาที่ 1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ซึ่ง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ได้ดำเนินงาน มีความก้าวหน้าเท่ากับ 87.60%
สัญญาที่ 2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงสนามไชย-ท่าพระ โดย บมจ.ช.การช่าง (CK) มีความก้าวหน้าเท่ากับ 97.74%
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงเตาปูน-ท่าพระ โดยกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น ได้ดำเนินงาน มีความก้าวหน้าเท่ากับ 59.76%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง โดยบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นผู้ดำเนินงาน มีความก้วหน้าเท่ากับ 81.18%
สัญญาที่ 5 งานระบบราง ช่วงหัวลำโพง-บางแค โดยมี CK เป็นผู้ดำเนินงาน มีความก้าวหน้าเท่ากับ 76.66% โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างการติดตั้งรางบริเวณงานสัญญาที่ 4 และบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุง