ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 72.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 61.4
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำในเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 67.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่รายได้ในเดือน ก.ค.59 อยู่ที่ 88.7
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นเป็นครั้งแรกของปี เนื่องจากปัจจัยเรื่องภัยแล้งคลี่คลายส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อภาคครัวเรือนและภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และรัฐบาลเร่งรัดการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง
ส่วนปัจจัยลบมาจากการส่งออกในเดือน มิ.ย.ที่ติดลบ 0.07% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรยังถือว่าทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้เหลือติดลบ 1.9% จากเดิมคาดติดลบ 0.7%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค.59 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ หรือดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงและราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของภาคการเกษตรและภาคครัวเรือนในต่างจังหวัดเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการคาดหวังของประชาชนที่คาดว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ มองว่าการบริโภคของภาคประชาชนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากประชาชนเริ่มคลี่คลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลายลง ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และผลกระทบของสถานการณ์ Brexit ที่มีผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีไม่มากนัก หลังจากที่การสำรวจในเดือนที่แล้วผลจาก Brexit ได้ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ลดลง ดังนั้นทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของการบริโภคจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลายลง และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเห็นเป็นรูปธรรม
"เราจะเห็นภาพการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจากการที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้ปลายไตรมาส 2 และต้นไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ 59 มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น ภาคธุรกิจและประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งปกติแล้วครึ่งปีหลังจะมีการใช้เงินเฉลี่ย 1.5 แสนล้านบาท ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่อง สัญญาณเศรษฐกิจจึงเป็นสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น หรือน่าจะมีสัญญาณที่ฟื้นขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มตัวอย่างจะมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันค่อนข้างนิ่ง แต่ก็ยังมีความกังวลบ้างในส่วนของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนต่างจับตาผลการลงประชามติหลังจากวันที่ 7 ส.ค.นี้ก่อน แต่ส่วนใหญ่ประชาชนยังคงเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 60 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านการลงประชามติก็ตาม และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าผลการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในปี 60 ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในการบ่งชี้อีกครั้งว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 60 และทำให้ประเทศไทยเคลื่อนตัวต่อไปได้ภายใต้บรรยากาศที่ทั่วโลกและคนไทยสบายใจ
"ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน ประชาชนและภาคธุรกิจยังเชื่อว่ากระบวนการการเลือกตั้งจะยังคงอยู่ตาม roadmap คือมีการเลือกตั้งในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านนี้ หรือถ้าไม่ผ่านก็จะมีกระบวนการหรือกลไกในการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อใช้ให้มีผลต่อการเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจึงเชื่อว่าการเมืองจะค่อยๆ มีเสถียรภาพ" นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี หากในที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แต่การเลือกตั้งในปี 60 ก็จะยังคงอยู่ เพียงแต่ประชาชนอาจไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญในรูปแบบไหน ทำให้สถานการณ์อาจจะเข้าสู่การ Wait & See บรรยากาศเศรษฐกิจแม้จะมีความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า แต่ยังรอดูทิศทางการเลือกตั้งว่าเป็นรูปแบบไหน ซึ่งอาจจะมีผลให้การลงทุนบางส่วนต้องชะลอหรือเลื่อนออกไปก่อน เพราะรอดูหน้าตาการเมืองไทยภายใต้การเมืองใหม่
"คนอาจจะรอดูทิศทางการเมือง การเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน ซึ่งจะทำให้การลงทุนถูกเลื่อนออกไป เพราะรอดูหน้าตาการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ความเชื่อมั่นไม่ได้หดหาย เพราะคนยังเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า เพียงแต่กระบวนการตัดสินใจการลงทุนและการเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอออกไป อาจมีผลให้เศรษฐกิจคึกคักน้อยกว่ากรณีที่ทุกอย่างมีภาพชัดเจน" นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะปรับตัวไปในทิศทางขาขึ้นในระยะยาว และประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวแบบอ่อนๆ เพราะอาจยังมีความกังวลเรื่องการจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง จึงทำให้ยังมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แต่เชื่อว่าช่วงไตรมาส 3 ถ้าไม่มีสถานการณ์ใดที่เข้ามาเป็นปัจจัยเชิงลบ ทั้งด้านการเมืองในการลงประชามติ ด้านเศรษฐกิจในกรณี Brexit ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ก็เชื่อว่าไตรมาส 4 การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะกลับมามีความโดดเด่นขึ้น และขอติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอีกระยะ 2 เดือนข้างหน้าว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างแท้จริงหรือไม่