น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เตรียมประชุมร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ข้าวในปี 59/60 โดยจะเชิญสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย และตัวแทนจากเกษตรกร มาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางดูแลราคาข้าว ซึ่งจะประเมินสถานการณ์ตลาดในภาพรวม ทั้งการส่งออก และตลาดในประเทศ ก่อนที่จะสามารถกำหนดราคาข้าวเปลือกในใจที่เหมาะสมกับรายได้ของเกษตรกร
"ราคาข้าวเปลือกจะเป็นเท่าไร ยังไม่ทราบ มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ทั้งสถานการณ์การผลิตและการค้าข้าวโลก ความต้องการบริโภค รวมถึงจะพยายามดึงผลผลิตไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ปัจจุบัน ราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ตันละ 9,000-9,500 บาท แต่บางจังหวัดโรงสีซื้อสูงถึงกว่า 10,000 บาท เพราะข้าวยังไม่ออกสู่ตลาด โดยตามแผนผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ได้กำหนดปริมาณข้าวที่ 27.7 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็น ข้าวนาปี ฤดูการผลิตปี 59/60 ประมาณ 23.29 ล้านตัน และข้าวนาปรัง ฤดูการผลิตปี 60 ประมาณ 3.88 ล้านตัน ซึ่งปริมาณลดลงจากปีก่อน
สำหรับมาตรการรองรับผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิตปี 59/60 ที่จะทยอยออกมาช่วงเดือนพ.ย. คือข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวหอมจังหวัดนั้น น.ส.ชุติมา กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยจะใช้มาตรการรับจำนำยุ้งฉางข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ตั้งเป้าหมายมีข้าวเปลือกเข้าโครงการประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งเกษตรกรที่จำนำข้าวไว้ที่ยุ้งฉางของตนเองจะได้รับค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน/2 เดือน โดยเบื้องต้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมงบประมาณไว้ 3,900 ล้านบาท เป็นค่าฝากเก็บของการรับจำนำข้าวยุ้งฉาง 2 ล้านตัน แต่ยังไม่ได้กำหนดราคารับจำนำยุ้งฉาง ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับฤดูกาลที่ผ่านมา คือ ตันละ 13,500 บาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสี 3% เพื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้ในสต็อกรอการขายในช่วงผลผลิตออกน้อย และการให้สินเชื่อผ่านสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อผลผลิตมาเก็บไว้รอการขายอีก 2.5 ล้านตัน คาดว่ามาตรการทั้งหมดจะดูดซับข้าวเปลือกนาปีออกจากระบบได้ประมาณ 12.5 ล้านตัน หรือเกือบ 50% ของปริมาณข้าวที่ออกมาทั้งหมด 23 ล้านตัน และไม่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่หากมาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ คาดว่ากระทรวงการคลังจะพิจารณามาตรการเสริมออกมา เพื่อดูแลราคาข้าวให้กับเกษตรกร