รมว.พาณิชย์ เผยเวที AEM ที่ลาวรับรองแผน AEC Blueprint 2025 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2016 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เผยผลประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 48 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่ รมต.เศรษฐกิจอาเซียนได้หารือร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับจากรวมกันเป็น AEC เมื่อปลายปีที่แล้ว โดย สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ได้จัดทำเอกสารเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน

โดยที่ประชุมฯ ได้ให้การรับรองเอกสารทั้ง 5 ฉบับแล้ว ประกอบด้วย 1.กรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นแนวทางพื้นฐานในการเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมเรื่องพิธีการศุลกากร การขนส่ง มาตรฐาน การจัดทำกฎระเบียบที่โปร่งใส เป็นต้น โดยเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย 2.กรอบการดำเนินงานกำกับดูแลความปลอดภัยอาหาร ซึ่งจะเป็นการนำนโยบายความปลอดภัยอาหารที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรองเมื่อปีที่แล้วมาสู่การปฏิบัติ โดยอาจมีการจัดทำความตกลงระหว่างอาเซียนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

3.กรอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เป็นแนวทาง การขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนว่าภาครัฐควรมีมาตรการและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอะไร 4.แผนงานสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นแนวทางเพื่อการลดระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจ เช่น การให้บริการแบบ one-stop การรับจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.แนวทางการพัฒนาและความร่วมมือสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ขณะนี้กำลังทวีความสำคัญและมีการจัดตั้งขึ้นหลายแห่งในอาเซียน โดยจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศสมาชิก ส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และการเป็นฐานการผลิตเดียวของอาเซียน

ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันรับรองแผนงานและกิจกรรมในช่วง 10 ปีข้างหน้าใน 9 สาขาสำคัญภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 หรือที่เรียกว่า AEC Blueprint 2025 เช่น แผนงานด้านการค้าสินค้า ซึ่งจะมีการปรับปรุงความตกลงการค้า และการสร้างกลไกลดผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษี แผนงานด้านบริการ จะมีการพิจารณาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการเปิดเสรีการค้าบริการที่ลึกขึ้น แผนงานด้านการลงทุน ซึ่งครอบคลุมการประเมินผล การเปิดเสรีการลงทุน การทบทวนข้อจำกัดต่างๆ การคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้าน การลงทุน และการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพ แผนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อให้มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจข้ามพรมแดน

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้การรับรองกรอบการตรวจสอบและประเมินผลแผนงานที่จัดทำภายใต้ AEC Blueprint 2025 โดยแนวทางการวัดผลในอนาคตไม่เพียงแต่วัดว่าทำได้แล้วหรือไม่ แต่จะวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้องกับ AEC Blueprint 2025 อย่างไร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออาเซียนโดยรวมด้วย

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า อาเซียนยังได้หารือการเปิดตลาดการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอาเซียนแต่ละประเทศสามารถเข้าไปลงทุนจัดตั้งธุรกิจในอีกประเทศโดยถือหุ้นข้างมากได้ โดยธุรกิจที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นเปิดตลาดให้ไทยเข้าไปลงทุนมีหลายสาขาที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานพยาบาล ธุรกิจบันเทิง การจัดงานแสดงสินค้า และได้เร่งรัดให้อาเซียนเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้ได้ตามที่ตกลงกันภายในปี 2560 อันจะส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของภาคบริการในภูมิภาค เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และยกระดับภาคบริการของอาเซียนซึ่งจะเสริมสร้างความพร้อมของอาเซียนที่จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของโลกได้

นอกจากนี้ รมต.เศรษฐกิจอาเซียน ได้หารือกับประเทศคู่เจรจารวม 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และร่วมรับรองเอกสารกับญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ เอกสารแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่น อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนา SMEs การพัฒนาอุตสาหกรรมลุ่มแม่น้ำโขง การปรับปรุงนวัตกรรม เป็นต้น เอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อประเมินประโยชน์ ผลกระทบ และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง พัฒนา ยกระดับ และแก้ไขข้อจำกัดภายใต้ความตกลงฯ และเอกสารความร่วมมือด้านการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านความโปร่งใสและข้อพึงปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบระหว่างอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็นและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจะมีการหารือกับจีนเพื่อสรุปร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ซึ่งจะเสนอผู้นำอาเซียนและจีนให้การรับรองต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ