นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.58 - ก.ค.59) กรมบัญชีกลางมีเงินสดรับเข้าเงินคงคลังผ่านระบบ GFMIS (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค.59) สูงถึง 2,536,878 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคม 2559 มีเงินสดรับ จำนวน 201,339 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการ 339 ล้านบาท หรือ 0.17% โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 40,226 ล้านบาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 20,488 ล้านบาท และภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 19,094 ล้านบาท
สำหรับผลการเบิกจ่ายเงินสิ้นเดือนกรกฎาคม ของงบประมาณประจำปี 2559 (1 ต.ค.58 – 29 ก.ค.59) เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม 2,215,766 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,720,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.46% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.36% (ปีก่อนเบิกจ่าย 80.1%) แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1,927,975 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,175,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 88.62 ขณะที่รายจ่ายลงทุน (ไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายแล้ว 285,390 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 457,096 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.44% โดยการเบิกจ่ายเงินประมาณของภาครัฐในภาพรวมเบิกจ่ายได้สูงขึ้น เนื่องจากหน่วยงานราชการเร่งรัดให้มีการเบิกจ่าย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี และผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะที่ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ภาพรวมเบิกจ่ายแล้ว 11,004 ล้านบาท ของวงเงินประมาณ 56,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.65% ซึ่งแบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 10,940 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26.68% และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 64 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.43% ส่วนผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ของปีงบประมาณ 2549-2558 เบิกจ่ายได้แล้ว 206,078 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 307,852 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66.94%
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 33,340 ล้านบาท ของวงเงินรวม 36,462 ล้านบาท หรือคิดเป็น 91.44% ซึ่งได้มีการทยอยเบิกจ่ายเงินอย่างต่อเนื่อง 2.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เบิกจ่ายได้แล้ว 34,196 ล้านบาท ของวงเงินรวม 37,870 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.30%
3.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน เบิกจ่ายได้แล้ว 45,013 ล้านบาท ของวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75.02% ส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น ผ่านการจ้างงานและการบริโภคของประชาชน และ 4.โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 200,000 บาท) เบิกจ่ายได้แล้ว 14,904 ล้านบาท ของวงเงินรวม 14,918 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99.91% ซึ่งเป็นเงินที่เบิกไปพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภูมิภาคของประเทศ และในส่วนของผลการเบิกจ่ายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ) เบิกจ่ายได้แล้ว 103,718 ล้านบาท ของวงเงินรวม 291,331 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.60%
"ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ติดตามเร่งรัดให้ส่วนราชการเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล รวมถึงพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน" นายมนัส กล่าว