น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ล่าสุด บีโอไอได้พัฒนารูปแบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) แบบออนไลน์ขึ้นใหม่อีก 3 ระบบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ประกอบด้วย 1.ระบบสนับสนุนงานส่งเสริมการลงทุน (e-Investment) เป็นระบบยื่นคำขอแบบออนไลน์ โดยจะช่วยเรื่องความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติงานเพื่อลดภาระงานด้านเอกสาร และการขอเอกสารซ้ำซ้อนของสำนักงานฯ และผู้ประกอบการ โดยจะเริ่มทดลองใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่ตุลาคม 2559 และจะใช้เป็นการทั่วไปตั้งแต่มกราคม 2560
2. ระบบการขอใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี (e-Tax) เป็นระบบการยื่นขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบออนไลน์ โดยบริษัทฯ จะต้องดำเนินการกรอก ตรวจสอบ และปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องด้วยตนเอง จนกระทั่งถึงการรับรองของผู้ตรวจสอบบัญชีผ่านทางระบบโดยตรง ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้งานตั้งแต่กันยายน 2559 และใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่กันยายน 2561
และ 3. ระบบรายงานผลประกอบการและรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitor) ซึ่งเป็นระบบรายงานความคืบหน้าในการลงทุน และระบบรายงานผลประกอบการ หลังจากออกบัตรส่งเสริมฯ แล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560
“ที่ผ่านมาการให้บริการออนไลน์ของบีโอไอ ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ก่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน ซึ่งการเพิ่มบริการใหม่ทั้ง 3 ระบบ จะช่วยให้การทำงานด้านบริการของบีโอไอครอบคลุม มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใสในทุกขั้นตอน โดยบีโอไอตระหนักดีว่าหากผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศ ก็จะส่งผลดีต่อบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยต่อไป" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้บีโอไอ ได้นำบริการออนไลน์มาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการนักลงทุนและผู้ประกอบการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปี 2554 ครอบคลุมการให้บริการระบบงานต่างๆ ได้แก่ ระบบสั่งปล่อยเครื่องจักร และอุปกรณ์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ (eMT Online) ระบบงานช่างฝีมือ (e-Expert) ที่เปิดให้มีการยื่นคำร้องขอช่างฝีมือต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบออนไลน์ โดยสามารถยื่นคำขอได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า บีโอไอได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและหลากหลายมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้บริการนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล หรือ ดิจิทัล ไทยแลนด์ (Digital Thailand) ของรัฐบาล และเป้าหมายของการส่งเสริมให้หน่วยงานราชการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการของภาครัฐ เพื่อสร้างความพร้อมของผู้ประกอบการในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่แข่งขันได้ในเวทีโลก