นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้รายงานผลการวิเคราะห์โอกาสและแนวทางขยายตลาดสินค้าอาหารไทย ในสหรัฐอเมริกา โดยพบว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง ประกอบกับมีประชากรที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มผู้บริโภค การวางแผนเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการขยายส่วนแบ่งการตลาดและมูลค่าการส่งออกของอาหารไทย โดยจำแนกกลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
กลุ่มเป้าหมายหลัก ชาวเอเชีย ผู้ที่มีเชื้อสายเอเชีย หรือผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากเอเชีย นิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักและยังมีความเข้าใจถึงการใช้ข้าวเป็นส่วนประกอบของอาหารเป็นอย่างดีผู้บริโภคในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย ผู้ที่มีเชื้อสายจีน ไทย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งจะนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ และข้าวบาสมาติ เป็นอาหารหลัก ทั้งนี้ สินค้าไทยที่นอกเหนือจากข้าวสามารถขยายตลาดในกลุ่มนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มเป้าหมายรอง ชาวอเมริกันนิยมการบริโภคอาหารแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ คือ Generation Z (ต่ำกว่าอายุ 20) เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์มากที่สุดและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เกิดและโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตอล นิยมลองบริโภคอาหารใหม่ ๆ ให้ความสนใจในรสชาติอาหารมากกว่ากลุ่มอื่น เน้นการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นกลุ่มที่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณค่า สำหรับ Generation X (35-49ปี) เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงวัยทำงานและเป็นวัยที่ส่วนใหญ่แล้วมีครอบครัวที่จะต้องรับภาระการเป็นหัวหน้าครอบครัว ชอบบริโภคอาหารที่สะดวกและรวดเร็วในการ ปรุงแต่งและยังคงเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมรับประทานเนื้อเป็นหลัก Baby Boomer (50-64 ปี) และ Millennial (21-34 ปี) เป็นกลุ่มประชากรที่นิยมเลือกบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในสหรัฐฯ เนื่องจากผู้บริโภคทั้งสองกลุ่มต่างให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพ
กลุ่มเป้าหมายศักยภาพ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย ผู้บริโภคเชื้อสายฮิสแปนิก ที่มีวัฒนธรรมในการบริโภคใกล้เคียงกับคนไทย มีการรับประทานข้าวเป็นหลัก ชอบทานอาหารรสจัด อีกทั้งปัจจุบันในสหรัฐฯ พบว่ามีประชากรฮิสแปนิกทั้งที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานหรือเกิดในสหรัฐฯ กระจายตัวอยู่ตามรัฐต่างๆ ค่อนข้างมาก กลุ่มอนามัย คือ กลุ่มผู้บริโภคอาหารที่ไม่มีสารปรุงรส/ Gluten-free/ส่วนผสมจากธรรมชาติ จะเป็นทางเลือกสำหรับคนกลุ่มนี้ เนื่องจากสามารถทำรับประทานที่บ้านได้ง่าย และส่วนใหญ่ เป็น Gluten free และไม่มีสารปรุงรส
จุดเด่นของสินค้าอาหารของไทยในสายตาของผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้แก่ ความหลากหลายของสินค้า ที่ตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกกลุ่ม สามารถปรุงง่ายและประยุกต์ร่วมกับอาหารชาติต่างๆ ได้อย่างเอร็ดอร่อยและลงตัว เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพ รวมทั้งมีอาหารออร์แกนิคและอาหารจากธรรมชาติ อาทิ กลุ่มข้าวสีต่างๆ ธัญพัช และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ซึ่งเป็นได้รับความนิยม ในการบริโภคมากขึ้นตามลำดับ
ในปี 2558 สินค้าอาหารที่ 3 ลำดับแรกที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลก ได้แก่ 1) ปลาและอาหารทะเล มูลค่า 14,600.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศแคนาดา จีน ชีลี อินเดีย อินโดนีเซีย ตามลำดับ และไทยอยู่ลำดับที่ 10 2) ผลไม้และถั่ว มูลค่า 14,020.40 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากประเทศเม็กซิโก ชีลี กัวเตมาลา คอสตาริกา เวียดนาม ตามลำดับและไทยอยู่ลำดับที่ 21 และ 3) เนื้อสัตว์ มูลค่า 9,116.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย แคนนาดา นิวซีแลนด์ เม็กซิโกตามลำดับและไทยอยู่ลำดับ ที่ 31
หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าอาหารจากไทยพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2559 สินค้าอาหารจากไทย 5 อันดับแรกที่สหรัฐฯนำเข้า ได้แก่ 1) ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา (นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 2 คู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ จีน แคนาดา เวียดนามและอินโดนีเซีย และโคลัมเบีย) 2) ของปรุงแต่ง ทำจากพืชผัก ผลไม้ (นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 4 คู่แข่งที่สำคัญของไทยคือ เม็กซิโก แคนาดา จีนและสเปน) 3) ปลาและอาหารทะเล มูลค่า 181.65 ล้านเหรียญสหรัฐ (นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 10 คู่แข่งที่สำคัญ ของไทยคือ จีน แคนาดา ชิลี อินโดนีเซีย)
4) ข้าว นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 2 คู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ แคนาดา อินเดีย อาเจนติน่า เนเธอร์แลนด์ และ 5) ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า 89.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 4 คู่แข่งที่สำคัญของไทยคือ แคนาดา เม็กซิโก จีนและเยอรมัน)