ก.เกษตรฯเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นก่อนตีกรอบฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นมาตรฐานบังคับภายในปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 8, 2016 08:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช. )กล่าวว่า ขณะนี้ร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรการแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องเกษตรอินทรีย์แล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในครั้งแรก กอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานฯ การแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานบังคับ ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯให้มีความสมบูรณ์เป็นที่ยอมรับของทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับของประเทศต่อไป

เบื้องต้นคาดว่ากระทรวงเกษตรฯจะเร่งผลักดันให้ประกาศมาตรฐานฯการแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในปี 2560 นี้ แต่จะให้เวลาปรับตัวเตรียมความพร้อมเป็นเวลา 3 ปี ซี่งคาดว่าจะบังคับใช้ในทางปฏิบัติในปี 2563

“ปัจจุบันไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ปีละกว่า 50,000 ตัน มีทั้งข้าวอินทรีย์ พืชผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ชา กาแฟ เครื่องเทศ สัตว์น้ำ และปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สำหรับช่องทางตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศนั้น ประกอบด้วย ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพหรือตลาดกรีน ตลาดนัดชุมชน ตลาดซื้อขายโดยตรงจากเกษตรกร และผู้ประกอบการบางรายยังเปิดซื้อขายผ่านทางออนไลน์ด้วย"นายพิศาล กล่าว

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ ได้มาตรฐานมากกว่าการเน้นที่ปริมาณการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว โดยกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organic) เพื่อยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยเป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคที่มีศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วกว่า 150,000 ไร่ และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท

ขณะที่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสแอบติดฉลาก “อินทรีย์" โดยที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงประเทศคู่ค้าขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย และกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์โดยรวม

การจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น กระทรวงเกษตรฯพร้อมผลักดันเป็นมาตรฐานบังคับ ภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อควบคุมการแสดงฉลากและใช้ชื่อ “อินทรีย์" บนสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการปฏิบัติ การตรวจสอบรับรองมาตรฐาน และกำกับดูแลสินค้าที่ติดฉลากเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตและจำหน่ายทั้งภายในประเทศ และสินค้านำเข้า เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค และขับเคลื่อนแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นรูปธรรมด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ